ทำไม ‘ค่าเงินรูเบิล’ ถึงกลับมาแข็งค่า เท่าก่อนสงคราม?

บทความนี้ จะขอตอบคำถามดังกล่าวว่าเหตุใด‘ค่าเงินรูเบิล’ ถึงกลับมาแข็งค่า ท่ามกลางภายใต้การคว่ำบาตรต่อรัสเซียแบบที่รุนแรงและกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รวมถึงผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ

1663

นับถึงวันนี้ วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ได้ใช้กำลังทหารบุกยูเครนเป็นวันที่ 40 แล้ว แม้ความเสียหายต่างๆจะมีอย่างมากมาย รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจของรัสเซียเองที่จะย่ำแย่ลงมากเพียงใด ทว่ามีสิ่งหนึ่งที่สามารถกลับมาสู่ในจุดก่อนวันที่รัสเซียบุกยูเครนได้ นั่นคือ ‘ค่าเงินรูเบิล’โดยได้ร่วงลงกว่าร้อยละ 70 ในช่วงต้นๆของวันที่เริ่มใช้กำลังทหาร ทว่าก็กลับมาสู่ในระดับก่อนหน้าสงครามได้ในที่สุด

ที่มา: Bloomberg

บทความนี้ จะขอตอบคำถามดังกล่าวว่าเหตุใด‘ค่าเงินรูเบิล’ ถึงกลับมาแข็งค่า ท่ามกลางภายใต้การคว่ำบาตรต่อรัสเซียแบบที่รุนแรงและกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รวมถึงผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ

เหตุผลแรก ได้แก่ ความสามารถในการบริหารจัดการของของธนาคารกลางรัสเซีย

โดย เอลวิรา นาบูลริน่า ผู้ว่าการธนาคารกลางรัสเซีย ที่มีรายงานข่าวว่าเธอได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งต่อผู้นำรัสเซียมาหลายครั้ง ทว่าถูกยังยั้งไว้ตลอด ได้ทำการปกป้องค่าเงินรูเบิลด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 9.5 สู่ร้อยละ 20 เพื่อที่จูงใจให้ชาวรัสเซียยังคงถือและออมเงินเป็นเงินสกุลรูเบิล นอกจากนี้ ยังได้ทำการออกมาตรการต่างๆ อาทิ มาตรการควบคุมการไหลเข้าออกของกระแสเงินทุนจากรัสเซีย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการไหลออกของเงินทุนแบบฉับพลัน (Capital Flight) รวมถึงชาวรัสเซียยังถูกจำกัดไม่ให้เอาเงินออกจากบัญชีเงินในแบงก์ต่างประเทศ และชาวต่างชาติไม่อนุญาตให้ขายหุ้นในตลาดรัสเซีย

ทั้งนี้ หากมองจากภาพรวมทั้งหมด ต้องถือว่ารัสเซียให้ความสำคัญต่อค่าเงินรูเบิลมากเป็นพิเศษ แม้จะอยู่ภายใต้บรรยากาศที่ภาพรวมเศรษฐกิจจะตกต่ำมากขึ้นเรื่อยๆในตอนนี้ และจะมากขึ้นเรื่อยๆนับจากนี้ไปก็ตามที

เหตุผลที่สอง คือ การที่รัสเซียถูกตัดออกจากระบบการชำระเงินระหว่างประเทศของโลกอย่าง SWIFT ส่งผลให้ทุกครั้งที่รัสเซียซื้อหรือนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ จะไม่สามารถทำการชำระเงินเป็นดอลลาร์หรือยูโรสู่ประเทศปลายทาง

ในทางตรงข้าม การส่งออกน้ำมันและก๊าซของรัสเซียไม่ได้ถูกคว่ำบาตรไปเสียทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศอย่างอินเดีย จีน รวมถึงยุโรปอีกหลายประเทศ จึงส่งผลให้ยังสามารถรับการชำระเงินได้ โดยรัฐบาลของประเทศในยุโรปเหล่านี้ยังต้องการน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียเพื่อให้เศรษฐกิจของตนเองไม่ตกต่ำมากจากราคาน้ำมันที่จะสูงมากและมีท่าทีจะสูงกว่ากว่านี้ หากไม่ทำเช่นนั้น

แน่นอนว่า เราจึงจะเห็นดุลการค้าของรัสเซียเกินดุลมากขึ้น รวมถึงค่าเงินรูเบิลได้แข็งค่าขึ้นจากปัจจัยนี้ เนื่องจากมีแต่การนำเงินตราต่างประเทศมาซื้อเงินรูเบิลเข้าประเทศแบบทางเดียว

ถามว่าสิ่งนี้ดีต่อรัสเซียหรือไม่? ตรงนี้ ต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ หากคิดจากมุมของตัวเลขเชิงมหภาค ถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นเชิงบวก ในทางกลับกัน หากพิจารณาจากมุมของชาวรัสเซียเอง ก็อาจจะไม่ดีเท่าไหร่นัก เนื่องจากชาวรัสเซียทำงานได้เงินจริง ทว่าไม่สามารถนำเงินที่ได้มาซื้อสินค้าและบริการที่นำเข้าจากต่างประเทศได้

เหตุผลที่สาม มาจากคำสั่งของทางรัฐบาลรัสเซียเอง ที่ต้องการและบังคับให้ชาวรัสเซียและธุรกิจในรัสเซียแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลต่างประเทศให้มาถือเงินสกุลรูเบิลกันให้หมด โดยมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงมากเป็นแรงจูงใจ

นอกจากนี้ ปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางรัสเซียลดลงจาก 629.4 พันล้านดอลลาร์ ในวันที่รัสเซียเริ่มบุกยูเครน มาสู่ 604.4 พันล้านดอลลาร์ ในวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งหมายความว่า แม้ว่าปริมาณดุลการค้ายังเกินดุล ธนาคารกลางรัสเซียได้นำเงินสำรองระหว่างประเทศทำการแทรกแซงค่าเงินรูเบิลผ่านธุรกรรมในตลาดเงินตราระหว่างประเทศ

น่าสังเกตว่าค่าเงินรูเบิลแบบเป็นทางการจะแข็งกว่าเงินรูเบิลในตลาดแบบไม่เป็นทางการ (Black Market) อยู่พอสมควร ซึ่งมีนักวิเคราะห์หลายสำนักประเมินว่าน่าจะอยู่ระหว่างร้อยละ 10-30

ท้ายสุด  ในเชิงการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจมหภาค ตัวแปรเดียวที่ดูเหมือนว่าทางการรัสเซียน่าจะตั้งเป็นเป้าหมายได้ ณ วันนี้ น่าจะเป็นระดับค่าเงินรูเบิล เนื่องจากตัวแปรทางเศรษฐกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อ หรือ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คงจะมีการเคลื่อนไหวแบบที่มีความผันผวนมากจนแทบไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งตรงนี้ ทำให้ค่าเงินรูเบิลเป็นที่จับตาของทางการรัสเซียมากเป็นพิเศษทั้งในมิติของเศรษฐกิจและทางการ เมือง โดยได้ทุ่มเททรัพยากรอย่างมากมายเพื่อปกป้องค่าเงินรูเบิลเพื่อให้มีเสถียรภาพมากที่สุด

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

 

Comments