Wind of Change ที่แบงก์ชาติญี่ปุ่น?

3756

Wind of Change (Thairath)

คงต้องบอกว่าหนึ่งในความเชื่อของตลาดที่ค่อนข้างมีมานาน ได้แก่ การที่นายฮารุฮิโกะ คูโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น จะได้รับการต่ออายุ

การเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นอีกหนึ่งสมัย โดยที่มาตรการที่ปักหมุดอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 10 ปีไว้ที่ 0% รวมถึงการซื้อตราสาร ETF ประเภทตราสารทุน จะมีไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยพยุงราคาของตราสารทุน หรือที่เรียกว่าแพ็คเกจมาตรการ Yield Curve Control (YCC) ที่มีมานานราว 2 ปี จะยังคงใช้ต่อไปในปี 2018

อย่างไรก็ดี ความเชื่อดังกล่าวอาจจะออกอาการไม่แน่แบบชัวร์ๆ เสียแล้ว

เรื่องที่เริ่มเป็นประเด็นใหม่สำหรับวงการธนาคารกลางยักษ์ใหญ่ คือเมื่อแบงก์ชาติญี่ปุ่นเริ่มออกอาการที่ไม่เคยเห็นกันบ่อยนัก นั่นคือ การที่นายฮารุฮิโกะ คูโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่ซูริก สวิตเซอร์แลนด์ว่า การตรึงอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ 0% ตามแพ็คเกจ Yield Curve Control (YCC) ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน อาทิ การที่ทำให้ตลาดเสพติดกับ mindset ของภาวะเงินฝืดในญี่ปุ่น โดยมุ่งหวังให้มาตรการ YCC เป็นตัวช่วยอยู่ตลอด

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาการใช้ Forward Guidance หรือการคาดการณ์ของอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารกลางให้ตลาดทราบ ก็ใช้ได้ผลในทางทฤษฎีมากกว่าในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ดี นายคูโรดะก็ย้ำว่าอย่างไรเสีย ก็อาจต้องทำ YCC ไปก่อน

สอดคล้องกับสมาชิกคณะกรรมการธนาคารกลางญี่ปุ่นท่านใหม่ นามว่า นายฮิโตชิ ซูซูกิ ที่กล่าวคล้ายๆ กับนายคูโรดะ ทว่าส่งสัญญาณชัดเจนกว่า โดยมองว่ามาตรการ YCC น่าจะเริ่มถอยออกมาได้แล้วในปีหน้า

หากเป็นจริง นับเป็นครั้งแรกที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจจะเริ่มมองถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามสไตล์ของญี่ปุ่น

จุดที่นายคูโรดะมองว่ามาตรการ YCC อาจจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่ตรงที่ นายคูโรดะเริ่มเปรยๆ ว่า การตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 10 ปีไว้ที่ 0% อาจจะทำให้กำไรของแบงก์พาณิชย์ญี่ปุ่นลดลงกว่าควรจะเป็น รวมถึงเป็นการบิดเบือนเซคเตอร์สถาบันการเงินของประเทศ

สุนทรพจน์ของนายคูโรดะที่ซูริก ย้ำว่าเป็นไปได้เหมือนกันที่มาตรการ YCC จะไปบั่นทอนกำไรของแบงก์พาณิชย์ ลดปริมาณเงินกองทุน และไปลดอุปทานของสินเชื่อต่อเศรษฐกิจ ที่เซอร์ไพรส์สุดๆ คือ เขากล่าวว่าการซื้อตราสาร ETF ประเภทตราสารทุน เป็นการบิดเบือนตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ที่เป็นไฮไลต์สำหรับความไม่แน่นอนของธนาคารกลางญี่ปุ่น ที่จะกระตุ้นผ่านนโยบายการเงินต่อ คือการที่แบงก์ชาติญี่ปุ่นมองเห็นความไม่เสถียรของนโยบายการเงินในปัจจุบัน เมื่ออัตราเงินเฟ้อกำลังขึ้นมาแบบเงียบๆ ในขณะที่นายคูโรดะจะคงอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีไว้ที่ 0% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงย่อมจะค่อยๆ ลดลง

พร้อมกันนี้ แบงก์ชาติญี่ปุ่นก็เพิ่มการซื้อพันธบัตรเพื่อรักษาระดับอัตราดอกเบี้ย นั่นย่อมก่อให้เกิดความไม่มีเสถียรภาพของตลาดพันธบัตรและหุ้นกู้

ทำให้ความตั้งใจเดิมที่จะใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อช็อกตลาดด้วยมาตรการ YCC เพื่อให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหลุดออกจากบรรยากาศของอัตราเงินฝืดในเดือนส.ค. 2016 กลับทำให้เสถียรภาพทางการเงินของประเทศสั่นคลอนในเมื่ออัตราเงินเฟ้อขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างในตอนนี้

ในขณะนี้ ฝ่ายวิจัยของแบงก์ชาติญี่ปุ่นกำลังวิเคราะห์หาอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม ที่ไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อหรือ r* ซึ่งนักวิเคราะห์หลายท่านมองว่าน่าจะสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ด้วย GDP ญี่ปุ่นที่ขึ้นมาเรื่อยๆ

หากเป็นเช่นนั้นจริง นายคูโรดะก็ยิ่งอยากจะออกจากการกระตุ้นทางการเงินแบบสุดโต่งอย่างในปัจจุบัน เปลี่ยนจากที่ตลาดเคยมองว่าน่าจะรออีก 1 ปีเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อแบบ headline ขึ้นมาเป็น 1% จึงค่อยขยับเปลี่ยนจากโหมดการกระตุ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ คำถามที่หลายคนเริ่มตั้งขึ้นมาแบบเงียบๆ ก็คือสมมติฐานที่ตลาดเชื่อว่านายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายชินโซ อาเบะจะยังแต่งตั้งนายคูโรดะเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติญี่ปุ่นต่ออีกหนึ่งสมัย ในเดือนเม.ย.ปีหน้า ยังจะแน่นอนอยู่หรือเปล่า 

ผมมองว่าโอกาส ณ ตอนนี้ จาก 100% อาจจะเหลือแค่ 90% โดยเริ่มมีนักวิเคราะห์บางท่านมองว่านายอาเบะเริ่มที่จะพูดคุยกับที่ปรึกษาที่ทำงานร่วมกันเป็นระยะเวลายาวนานอย่างนายเอ็ทซูโร ฮอนด้า ผู้ซึ่งเชื่อในการกระตุ้นนโยบายการเงินแบบสุดโต่งว่าจะเป็นการชุบชีวิตเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้กลับมาคึกคักอีกครั้งได้

ต้องไม่ลืมว่านายอาเบะหวังในนโยบายการเงินแบบสุดโต่งซึ่งเป็นลูกศรที่หนึ่งใน Abenomics ซึ่งหากนายคูโรดะยังจะทำยึกยักต่อว่า จะชะลอการกระตุ้นผ่านนโยบายการเงินต่อดีไหม ผมมองว่านายคูโรดะก็อาจโดนนายฮอนด้าแซงทางโค้งเหมือนนายเจอโรม พาวเวลล์แซงนางเจเน็ต เยลเลน ในธนาคารกลางสหรัฐได้เหมือนกัน

สำหรับเหตุผลการเปลี่ยนม้ากลางศึกนั้นถือว่าเข้าใจได้ นายอาเบะคงจะไม่อยากให้ค่าเงินเยนแกว่งจากการเปลี่ยนโทนของนโยบายการเงินจากนายคูโรดะ ซึ่งเห็นได้จากกรณีธนาคารกลางยุโรปปรับจุดยืนนโยบายการเงินของตนเองได้ ส่งผลกระทบต่อค่าเงินยูโรเป็นอย่างมากเมื่อเดือนที่แล้ว

นอกจากนี้ เนื่องจากว่านายอาเบะจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกแค่ 5 ปี จากนั้นก็เซย์กู๊ดบายไม่ลงเลือกตั้งอีก รวมถึงนโยบาย Abenomics ยังประกอบด้วยนโยบายการคลัง กับนโยบายปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจอีกด้วยเป็นองค์รวม

ทว่านายคูโรดะยังต้องรับผิดชอบกับผลข้างเคียงจากนโยบายการเงินของตนเองโดยตรง ซึ่งหากเกิดทำให้มีผลเสียต่อเศรษฐกิจ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบคือนายคูโรดะมิใช่นายอาเบะแต่อย่างใดครับ

Comments