มุมมองไอเอ็มเอฟ 2022 ต่อเศรษฐกิจสหรัฐและจีน

กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ เพิ่งออกรายงานมุมมองเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุด โดยลดประมาณการอัตราเติบโตของจีดีพีเศรษฐกิจโลกปีนี้เหลือ 4.4% ต่ำกว่าประมาณการครั้งก่อนเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว ที่ 4.9% โดยโฟกัสที่เศรษฐกิจจีนและสหรัฐ

1585

กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ เพิ่งออกรายงานมุมมองเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุด โดยลดประมาณการอัตราเติบโตของจีดีพีเศรษฐกิจโลกปีนี้เหลือ 4.4% ต่ำกว่าประมาณการครั้งก่อนเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว ที่ 4.9%และอัตราการเติบโตในปี 2023 ที่ 3.8% สูงกว่าประมาณการครั้งก่อนเล็กน้อย ในขณะที่ได้ปรับอัตราการเติบโตเศรษฐกิจโลกในปี 2021 ขึ้นมาจากครั้งก่อนที่ร้อยละ 5.9

หากพิจารณาเศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ในปีนี้และปีหน้า คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 3.9 และ 2.6 ตามลำดับ ส่วนเศรษฐกิจกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนา ในปีนี้และปีหน้า คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 4.8 และ 4.7 ตามลำดับ

สำหรับประเด็นหลักที่เกี่ยวข้องกับ 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ รวมถึงภูมิภาคอื่นๆ มีอยู่ 4 ประเด็น ดังนี้

รูปที่ 1  ปัจจัยที่มีผลต่อการลดลงคาดการณ์อัตราการเติบโตจีดีพีเศรษฐกิจโลกของ IMF

หนึ่ง อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากรูปที่ 1 จะพบว่าการลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้ลง 0.5% ส่วนใหญ่มาจาก 2 ประเทศหลัก คือ สหรัฐ และ จีน

โดยจีดีพีสหรัฐคาดว่าจะเติบโตเหลือ 4% โดยลดลง 1.2% จากประมาณการครั้งก่อน สาเหตุหลักมาจากการชะลอการเบิกจ่าย ของงบกระตุ้น Build Back Better ของผู้นำสหรัฐ ซึ่งจะทำให้นโยบายการคลังสหรัฐผ่อนคลายน้อยกว่า คาดก่อนหน้าค่อนข้างมาก และจากธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ที่ทางไอเอ็มเอฟมองว่าเฟดขึ้นดอกเบี้ย ในปีนี้และปีหน้าอย่างละ 3 ครั้ง ซึ่งถือว่าเร็วและมากกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า

ในขณะที่จีดีพีจีนคาดว่าจะเติบโตเหลือ 4.8% ลดลง 0.8% จากประมาณการครั้งก่อน สาเหตุหลักมาจากผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริง อันเป็นผลพวงมาจากนโยบาย zero Covid policy ของทางการจีน ที่ส่งผลต่ออุปสงค์ของชาวจีนโดยตรง รวมถึงต่อท่าเรือต่างๆที่ ไม่สามารถเปิดได้อย่างเต็มที่ ซึ่งทำให้เกิดภาวะอุปทานติดขัด จนไม่สามารถทำให้สินค้าต่างๆ รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์กลับไปอยู่ในระดับราคา ในช่วงก่อนโควิด

อย่างไรก็ดี ในส่วนสถานการณ์ Baseline สำหรับเศรษฐกิจจีนนั้น ยังมองว่า ปัญหาอสังหาริมทรัพย์น่าจะสามารถถูกจำกัดให้อยู่ในวงจำกัดได้ในปีนี้

สำหรับอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของภูมิภาคอื่นๆ จะพบว่าเศรษฐกิจยุโรปในปีนี้คาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 3.9 โดยยุโรปใต้มีแนวโน้มจะเติบโตได้ดี ส่วนญี่ปุ่นในปีนี้ คาดว่าเติบโตที่ร้อยละ 3.3 ส่วนอินเดียและอาเซียนในปีนี้ คาดว่าเติบโตที่ร้อยละ 9 และ 5.6 ตามลำดับ ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟ ประเมินว่าเศรษฐกิจของอเมริกาใต้จะเติบโตค่อนข้างต่ำ จากผลพวงของโควิดและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

รูปที่ 2  ผลจากอัตราการฉีดวัคซีนโควิดต่อการเปลี่ยนแปลงระดับคาดการณ์ อัตราการเติบโตจีดีพีประเทศต่างๆในเศรษฐกิจโลกของ IMF

นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟ ยังสนับสนุนให้มีการเร่งฉีดวัคซีนโควิดให้กับ ประเทศกำลังพัฒนาให้เร็วขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีน โควิดสูง มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะเติบโตได้ดี ดังรูปที่ 2

ในมุมของการว่างงาน จะพบว่าหากพิจารณาจากระดับอัตราการว่างงาน จะพบว่าตลาดแรงงานสหรัฐมีความร้อนแรงมาก ในขณะที่หากพิจารณาจาก อัตราการลาออกและอัตราการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของสหรัฐ จะพบว่ายังมีผู้ที่อยู่นอกตลาดแรงงานค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคบริการ จนอาจทำให้เกิดแรงกดดันต่อระดับ ค่าจ้างเพิ่มขึ้นอีก

สอง มุมมองอัตราเงินเฟ้อของโลก คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ที่ร้อยละ 3.9 สำหรับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และ ร้อยละ 5.9 สำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยที่สหรัฐจะเผชิญปัญหาเงินเฟ้อมากกว่าเพื่อน จากแรงกดดันของค่าจ้างที่มีผู้ออกจากตลาดแรงงานในช่วงโควิดและไม่กลับมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคบริการ โดยที่อัตราเงินเฟ้อสหรัฐจะขึ้นสูงสุดในช่วงกลางปีนี้ก่อนจะลดลงมา ในช่วงปลายปี จากฝั่งอุปทานที่น่าจะค่อยๆกลับมาทำงานได้เหมือนช่วงปกติ

สาม นโยบายการเงิน ทางไอเอ็มเอฟ ประเมินเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้และปีหน้าอย่างละ 3 ครั้ง เพื่อสู้กับเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ยังมองว่านโยบายการเงินของเฟด น่าจะต้องพิจารณาผลกระทบต่อความเปราะบางทางเศรษฐกิจ ของตลาดเกิดใหม่จากการขึ้นดอกเบี้ยด้วย เนื่องจากจะทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตได้น้อยลง และจะส่งผลเชิงลบกลับไปยัง เศรษฐกิจสหรัฐเองในที่สุด

สี่ นโยบายการคลัง ทางไอเอ็มเอฟ ประเมินว่าทุกประเทศควรจะพิจารณาชะลอการขาดดุลทางการคลังในระยะต่อไป เนื่องจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ของโลกสูงขึ้น จะส่งผลต่อความสามารถในการชำระดอกเบี้ยโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้ความเสี่ยงด้านเครดิตของประเทศเหล่านี้สูงขึ้น

ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟยังมองว่าความเสี่ยงเชิงลบต่อเศรษฐกิจดูมีโอกาสจะเกิดขึ้นสูงกว่าในเชิงบวก

ผมมองว่าไอเอ็มเอฟน่าจะมีการอัพเดตประมาณการเศรษฐกิจให้บ่อยขึ้น เนื่องจากในครั้งนี้ พบว่ามีการปรับประมาณการเศรษฐกิจ ด้วยขนาดที่ค่อนข้างก้าวกระโดดในหลายภูมิภาค เมื่อเทียบจากครั้งก่อน

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

 

Comments