จังหวะการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจโลก ในมุมอีซีบี

มาฟังว่าด้วยมุมมองจังหวะการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจโลก ในมุมของคริสติน ลาการ์ด ประธานอีซีบีกัน

319

ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

มาฟังว่าด้วยมุมมองจังหวะการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจโลก ในมุมของคริสติน ลาการ์ด ประธานอีซีบีกัน

สัปดาห์นี้ ยังคงพาท่านผู้อ่านมาอยู่ในควันหลงของงานสัมมนาของเฟด ที่แจ็คสันโฮลล์ โดยนอกจากเจย์ พาวเวล ประธานเฟดที่กล่าวสุนทรพจน์สุดสำคัญแห่งปี ซึ่งผมขอตั้งชื่อสุนทรพจน์ของพาวเวลในปีนี้ว่า “Proceed Carefully” ยังมีอีกหนึ่งสุนทรพจน์ที่แม้ไม่โด่งดังเท่า ทว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือ สุนทรพจน์ของคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป ที่ผมขอตั้งชื่อว่า “Shift & Break” เนื่องจากเนื้อหาของสุนทรพจน์พูดถึงเพียง 2 ประเด็นคือ การShift และ Break ของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก จนลาการ์ดเชื่อว่าแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่จะนำมาใช้ในการบริหารเศรษฐกิจต้องมีการปรับกระบวนทัศน์กันใหม่ครั้งใหญ่ อย่างไรก็ดี ไม่คิดว่าจำเป็นต้องการโมเดลแบบจำลองใหม่แต่อย่างใด
.
ขอเริ่มจากการ Shifts ของเศรษฐกิจโลก
.
โดยนับตั้งแต่ที่โควิดได้เกิดขึ้นมา มีสิ่งที่เรียกว่าการ Shift อยู่ 3 ประการ ดังนี้
.
หนึ่ง ตลาดแรงงาน
.
โดยลาการ์ดมองว่าการที่ตลาดแรงงานในรอบนี้ค่อนข้างตึงตัวเป็นอย่างมาก นอกจากเกิดจากฝั่งอุปสงค์ที่ขยายตัวมากขึ้น ยังเกิดจากการที่มีแรงงานออกจากตลาดโดยไม่กลับเข้ามาอีกต่อไป ทั้งจากการเจ็บป่วยและการเปลี่ยนแนวคิดการชั่งน้ำหนักระหว่างการทำงานและการใช้เวลาว่างส่วนตัว โดยแรงงานยุโรปมีจำนวนมากขึ้นในตลาด ทว่าทำงานด้วยจำนวนชั่วโมงที่น้อยลง
.
นอกจากนี้ โควิดยังเร่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งทำให้องค์ประกอบของสัดส่วนแรงงานในเซกเตอร์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป โดยมีการทำงานจากบ้านมากขึ้น ทั้งนี้ AI ได้ทำให้ผู้ใช้แรงงานยุโรปมีงานในภาคส่วนนี้สูงขึ้น
.
สอง การเปลี่ยนผ่านของแหล่งการใช้พลังงาน
.
ที่เกิดจากการเร่งตัวของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง (Climate Change) ซึ่งได้ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ในวงการพลังงานโลก
.
แม้ว่ายุโรปจะได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างรุนแรงจากการพึ่งพาแหล่งพลังงานจากรัสเซียมากเกินไป ทว่าสมดุลพลังงานของโลกก็เกิดการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่เช่นกัน โดย Shale Oil ของสหรัฐได้ลดกำลังการผลิตลง หลังจากมีลงทุนด้วยปริมาณที่ลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อีกทั้ง OPEC ก็เริ่มลดเป้าหมายการผลิตเพื่อตรึงระดับราคาน้ำมันให้สูงขึ้น
.
ในขณะเดียวกัน การผลักดันต่อพลังงานหมุนเวียน (Renewables) ให้เริ่มมีโมเมนตัมมีอยู่สูงขึ้นในแทบทุกแห่งของโลก จากความกังวลครั้งใหญ่ต่อความมั่นคงทางพลังงานและสภาพความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในส่วนโครงสร้างครั้งสำคัญ
.
โดยอียูตั้งเป้าหมายให้ใช้พลังงานจาก Renewables มีมากกว่า 40% ของทั้งหมดภายในปี 2030 ในขณะที่สหรัฐตั้งเป้าหมายที่ 50% ไว้ภายในปี 2050
.
สาม การเผชิญความแตกร้าวในมุมภูมิรัฐศาสตร์โลก
.
โดยสหรัฐและจีน ได้กลายเป็น 2 ขั้วทางการเมืองที่ยากจะกลับมาเป็นมิตรกันอีกต่อไป โดยระดับของการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศตนเองในมุมของสายห่วงโซ่อุปทานมีอยู่สูงขึ้น จนยากที่จะทำให้การค้าและการลงทุนตามแนวคิดแบบโลกาภิวัตน์กลับมาเหมือนเดิมได้อีกต่อไป โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนประเทศที่สร้างข้อจำกัดทางการค้าได้เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าตัว
.
ในขณะที่แนวคิดการจับกลุ่มกันในประเทศที่เป็นมิตรทางผลประโยชน์ร่วมกันหรือ Friend-Shoring ได้รับความนิยมแบบขยายตัวแบบทวีคูณอย่างรวดเร็ว โดยโควิดได้ทำให้แนวคิดนี้ยิ่งเติบโตไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วขึ้นไปอีก
.
จากปัจจัยทั้งหมดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างแหล่งพลังงาน ได้ทำให้อัตราเงินเฟ้อของโลกเติบโตสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากการที่อุปทานของสินค้าและบริการที่หดตัว รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ถีบตัวสูงขึ้นแบบที่ไม่กลับมาสู่สภาวะปกติอย่างถาวรได้ง่ายๆ
.
ปรากฏการณ์เหล่านี้ จะเป็นสิ่งที่จะเรียกว่า New Normal แบบถาวรไหม ยังคงต้องรอดูกันต่อ ทว่าธนาคารกลางของโลกต้องมีโจทย์ใหม่ๆ ที่ท้าทายกว่าเดิมอย่างแน่นอน

ในมุมของธนาคารกลาง ลาการ์ดให้มุมมองว่าควรจะประพฤติตนด้วยปรัชญา 3 ข้อ ได้แก่
.
1. มีความชัดเจน นั่นคือต้องตั้งเป้าหมายเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นสรณะ โดยอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 2% จะไม่เปลี่ยนแปลงเพื่อให้มีความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางในการต่อสู้กับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่จะมีสูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงถัดไป
2. มีความยืดหยุ่น โดยจะไม่พึ่งพาแบบจำลองทางเศรษฐกิจชนิดไม่ลืมหูลืมตา ต้องมีการใช้มุมมองเศรษฐกิจจากทั้งตัวเลข leading indicator และวิจารณญาณประกอบด้วย ในการบริหารเศรษฐกิจ
และ 3. ดำเนินนโยบายการเงินด้วยความเจียมเนื้อเจียมตัวว่าความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ในอนาคตมีอยู่สูงมาก จำเป็นต้องตั้งการ์ดสูงเผื่อสิ่งนี้ไว้ โดยให้ออกอาวุธเกินไว้ดีกว่าขาด

ที่มาภาพ: Japan Times, Bloomberg

Comments