ทำไมนโยบายศก.ใหม่ญี่ปุ่น นำมาสู่  Kishida Shock?

บทความนี้ จะมาพิจารณาโฟกัสนโยบายเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นท่านใหม่ ฟูมิโอ คิชิดะ พร้อมผลตอบรับจากตลาดหุ้นญี่ปุ่น เซกเตอร์ต่างๆที่น่าจะได้รับผลดี และ กองทุนรวมญี่ปุ่นที่น่าสนใจ

2487

คณะรัฐมนตรีใหม่ของฟูมิโอ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีท่านใหม่ของญี่ปุ่น ถือว่ามีรัฐมนตรีหน้าใหม่อยู่ถึง 13 ท่าน จากทั้งหมด 20 ท่าน รวมถึงมีผู้หญิงอยู่ถึง 3 ท่าน ซึ่งถือว่าพลิกธรรมเนียมการเมืองของญี่ปุ่นไปค่อนข้างเยอะ โดยตำแหน่งที่ถือว่าสำคัญที่สุด ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปรากฏว่าไม่มีพลิกโผแต่อย่างใด ชุนนิชิ ซูซูกิ ลูกชายของอดีตนายกรัฐมนตรี เซงโกะ ซูซูกิ ในต้นยุค 1980 ได้รับตำแหน่งสำคัญนี้ โดยเขาเป็นน้องเขยของ ทาโร อาโซะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ทางด้านฝั่งของชินโซะ อาเบ้ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ประกอบด้วย เลขาธิการพรรค LDP อย่าง อมาริ อาคิระ ซึ่งถือเป็นหมายเลข 2 ของพรรค และ โคอิชิ ฮากุยดา คนสนิทของชินโซะ อาเบ้ มาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม   ซึ่งถือว่าพลิกความคาดหมายพอสมควร

หันมาพิจารณารัฐมนตรีใหม่ที่อายุไม่ถึง 50 ปีกันบ้าง ซึ่งถือว่าเกิดไม่บ่อยในวงการเมืองญี่ปุ่น เริ่มจาก ทาโกยูกิ โคบายาชิ หนุ่มใหญ่วัย 47 ปี เป็นรัฐมนตรีกระทรวงที่ตั้งขึ้นใหม่ชื่อว่า กระทรวงความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยมีหน้าที่โยกย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่มีความอ่อนไหวต่อการกระทบกระเทือนจากห่วงโซ่อุปทาน กลับเข้ามาตั้งฐานการผลิตในญี่ปุ่นแทน รวมถึงดูแลการค้ากับจีนเป็นสำคัญอีกด้วย รวมถึง คาเรน มิคิชิมา รัฐมนตรีหญิงท่านใหม่วัย 44 ปี ของกระทรวงดิจิตัล

นอกจากนี้ ที่เป็นไฮไลต์อีกหนึ่งตำแหน่ง คือ การเข้ามาของโนริโกะ ฮารูชิ รัฐบมนตรีหญิงวัย 55 ปี แทนนายทาโร่ โคโน ที่เป็นคู่ชิงดำตำแหน่งผู้นำญี่ปุ่นของนายคิชิดะ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นตอบรับรัฐบาลใหม่ชุดนี้ไม่ค่อยดีนัก โดยมีสาเหตุอยู่ 2 ประการ ได้แก่

  1. ไส้ในของมาตรการที่ว่าด้วยนโยบายที่เน้นการเท่าเทียมกันของรายได้ที่จะกล่าวถึงต่อไปนั้น ประกอบด้วยการเก็บภาษีต่อเม็ดเงินที่นำไปลงทุนในตราสารการเงินที่มีมูลค่าสูงกว่า 100 ล้านเยน อย่างไรก็ดี มีข่าวลือว่าจะมีการจัดเก็บ Capital Gains Tax หรือภาษีจากกำไรในการขายหุ้นด้วยอัตราร้อยละ 20 จึงนำมาซึ่งการลดลงของดัชนีหุ้นญี่ปุ่นติดต่อกัน 9 วัน ซึ่งปรากฏคำว่า Kishida Shock ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ญี่ปุ่นเมื่อกลางสัปดาห์นี้
  2. ความไม่มั่นใจว่า ฟูมิโอ คิชิดะ จะสามารถนำพรรค LDP ชนะเลือกตั้งทั้งในสภาล่าง ในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ และการเลือกตั้งในสภาสูง ในช่วงฤดูร้อน กลางปีหน้า ได้หรือไม่?
  3. มาตรการขึ้นค่าจ้างของคิชิดะ ได้ส่งผลให้ตลาดกังวลว่าจะส่งผลเสียต่อกำไร ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นการเพิ่มต้นทุน ในช่วงเวลาที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นต้นทุนอีกอย่างหนึ่งสูงขึ้นมากในช่วงนี้

หันมาพิจารณาโฟกัสนโยบายเศรษฐกิจของคิชิดะกันบ้าง ประกอบด้วย 3 นโยบายหลัก ได้แก่

  1. นโยบายเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ อันประกอบด้วย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังและการเงิน ซึ่งจะยังคงอัตราภาษีการบริโภคและนโยบายเงินเฟ้อเป้าหมายที่ร้อยละ 2 เอาไว้ รวมถึงนโยบายอะเบโนมิคส์ที่ยังใช้งานอยู่เหมือนเดิม และมาตรการการค้าเสรีกับสหรัฐและภูมิภาคเอเชีย
  2. นโยบายที่เน้นการเท่าเทียมกันของรายได้และความั่งคั่งสำหรับประชาชนชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศ ประกอบด้วยมาตรการการขึ้นค่าจ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเซกเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด19 และนโยบายด้านภาษีและงบประมาณที่จะเน้นการกระจายรายได้ให้ถึงประชาชนทุกกลุ่มรายได้ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือต่างๆต่อ SME
  3. นโยบายที่เน้นความมั่นคงและความมั่งคั่งของประเทศไว้ก่อน โดยมีมาตรการโยกย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่มีความอ่อนไหวต่อการกระทบกระเทือนจากห่วงโซ่อุปทาน กลับเข้ามาตั้งฐานการผลิตในญี่ปุ่นแทน รวมถึงดูแลการค้าต่างๆกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจีน

สำหรับในภาพเศรษฐกิจรวมของญี่ปุ่นนั้น เมื่อช่วงเข้าสู่ไตรมาส 4 ของปี 2021 ปรากฏว่า จุดดีคือการขยายตัวที่ค่อนข้างดีของการส่งออกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้วโดยส่วนใหญ่ ได้ส่งผลให้จีดีพีญี่ปุ่นเมื่อไตรมาส 2 ขยายตัวร้อยละ 1.9 และดูแล้วน่าจะยังพอไปได้ดีในไตรมาส 3 แม้การบริโภคอาจจะไม่ได้โดดเด่นมากจาก โควิดที่ไม่ได้หายไปอย่างรวดเร็วนักเมื่อเทียบชาติตะวันตก

ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อแม้ว่าจะไม่ติดลบ ทว่าก็ไม่สามารถทำให้เข้าเป้าหมายภายใน 1 ปีต่อจากนี้เช่นกัน อย่างไรก็ดี ความคาดหวังอัตราเงินเฟ้อในระยะเวลาปานกลาง ของญี่ปุ่นยังคงเหนี่ยวแน่นอยู่

ไฮไลต์ของเศรฐกิจญี่ปุ่น ณ ตรงนี้ คือการขาดแคลนของแหล่งพลังงานในจีน จะมีผลต่อการส่งออกและภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นมากน้อยแค่ไหนในช่วงนี้จนถึงสิ้นเดือนหน้า

หันมาพิจารณาหุ้นเซกเตอร์ต่างๆกันหน่อย ผมยังมองว่าหุ้นในกลุ่มการเติบโตสูง อันประกอบด้วย กลุ่มยารักษาโรค โทรคมนาคม และประกันภัย ยังดูน่าสนใจ เนื่องจากได้รับอานิสงค์จากนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ของคิชิดะโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเขาสามารถพาพรรค LDP คว้าชัยในการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมาถึงช่วงสิ้นเดือนนี้และกลางปีหน้าทั้ง 2 ครั้ง

หากพิจารณากองทุนรวมกันบ้าง ผมมองว่าในระยะสั้น ภายใต้ผู้นำใหม่ ดัชนี Nikkei225 อาจจะยังดูน่าสนใจใกล้เคียงกับ Topix ทว่าในระยะยาวยังมอง Nikkei225 น่าสนใจน้อยกว่า Topix เล็กน้อย

สำหรับกองทุนรวมขนาดใหญ่ประเภท Active หากพิจารณาลงทุนในระยะยาว  ผมชอบกองทุน ASP-JHC ที่มี Nomura High Conviction Fund  เป็นกองทุนแม่ หากลงทุนในระยะสั้น ผมชอบกองทุน B-Nippon ที่มี Nomura Strategic Value Fund เป็นกองทุนแม่

ด้านหุ้นญี่ปุ่นขนาดกลางและเล็ก ผมชอบกองทุน KF-JPSCAP ที่มี MUFG Japan Equity Small Cap Fund  เป็นกองทุนแม่

ในภาพรวมแล้ว รัฐบาลของคิชิดะถือว่าเป็นรัฐบาลที่ประกอบด้วยกลุ่มใหญ่ 2 กลุ่มภายในพรรค LDP ซึ่งต้องอาศัยการประนีประนอมพอสมควร และนั่นทำให้เขาต้องชนะการเลือกตั้งสภาล่างที่จะมาถึงอย่างสวยงาม เพื่อสามารถเป็น เครื่องหมายรับรองว่ารัฐบาลของเขาจะอยู่ได้นานพอที่จะแก้ไขเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้อย่างมั่นใจ

บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

Picture Source: Japan Times Inc.

Comments