บทเรียนจาก ‘เรย์ ดาลิโอ’ ที่เคยเกือบลาวงการ

ผมขอพามารีวิวหนังสือเล่มที่เพิ่งได้รับรางวัลหนังสือแนวธุรกิจประจำปี 2023 ของทาง FT ชื่อ “Right Kind of Wrong: Why learning to fail can teach us to thrive”

456

บทความนี้ ผมขอพามารีวิวหนังสือเล่มที่เพิ่งได้รับรางวัลหนังสือแนวธุรกิจประจำปี 2023 ของทาง FT ซึ่งผมอ่านแล้วรู้สึกว่าอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟังในทันที เป็นหนังสือชื่อ “Right Kind of Wrong: Why learning to fail can teach us to thrive” เขียนโดย ศาสตราจารย์ เอมี่ เอ็ดมอนด์สัน

ก่อนอื่นพอเห็นชื่อหนังสือเล่มนี้ ทำให้ผมนึกถึงรอยสักที่ข้อมือของนักเทนนิสชาวสวิสเซอร์แลนด์ นามว่า แสตน วารินสก้า ที่เขียนไว้ว่า << Ever tried. Ever failed. No matter. Try again. Fail again. Fail better. >> ขึ้นมาในทันที

จริงๆแล้ว หัวใจหรือแก่นหลักที่ทางเอ็ดมอนด์สันจะสื่อนั้น เหมือนกับที่แสตนสักไว้ท่ีข้อมือทุกประการ เพียงแต่หนังสือเล่มนี้ จะบอกกับเราว่าจะทำให้สามารถเรียนรู้จากการ Fail better นี้ได้อย่างไรแบบค่อนข้างเป็นระบบและถือว่ากระชับแต่เนื้อหาแน่นมาก

โดยส่วนตัว ผมชอบหนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่เพราะเนื้อหาเป็นอันดับแรก เนื่องจากสำหรับผม ไม่ได้เป็นอะไรที่ใหม่แบบแกะกล่อง แนวคิดหลักหนังสือเล่มนี้ มีส่วนคล้ายกับหนังสือของนาซิม นิโคลัส ทาเล็บ ไม่ว่าจะเป็น AntiFragile: Things that gain from disorder หรือ Fooled by Randomness ในบางส่วน อาทิ แนวคิดที่ว่าให้เน้น Small Bets แม้จะมั่นใจว่าน่าจะมาถูกทางแล้ว แต่สิ่งที่หนังสือเล่มนี้เด่นกว่าหนังสือแนวนี้แทบทุกเล่ม คือตัวอย่างของบุคคลที่ผู้เขียนนำมาใช้เป็นตัวละครที่แสดงให้ถึงการ Fail Better ในแต่ละขั้นตอน ต้องบอกว่าน่าสนใจทั้งตัวบุคคลและโชคชะตาหรือการตัดสินใจเลือกกระทำอะไรบางอย่างที่ทำให้พวกเขาเหล่านี้ Fail ซึ่งผู้เขียนเน้นตรงประเด็นการตัดสินใจแบบเจาะลึก มากกว่าจังหวะของโชคชะตา

โดยผมมองว่าการแทรกตัวอย่างบุคคลแต่ละรายเข้ามาในแต่ละบทของหนังสือ ทำได้อย่างแนบแนียนไปกับเนื้อหาที่จะสื่อแบบที่แยกกันไม่ออกว่า เราได้ออกจากภาคเนื้อหามาสู่ตัวบุคคลตั้งแต่เมื่อไหร่ ซึ่งคนที่จะเขียนได้แบบนี้ ต้องมีความแม่นใน concept เนื้อหามากๆ ซึ่งตัวเอ็ดมอนด์สันเองก็บอกว่าเขาใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตศึกษาสาขา Safety Psychology แนวที่ว่าจะเรียนรู้จากความล้มเหลวได้อย่างไร

มาถึงผมขอเล่า concept คร่าวๆของหนังสือเล่มนี้ และจะตบท้ายตัวอย่างเรย์ ดาลิโอ ในหนังสือ ดังนี้

เริ่มจากหลักการที่จะสามารถเรียนรู้จากความล้มเหลวแบบได้เอาไปใช้ประโยชน์ต่อไปมีอยู่ 4 ข้อ ได้แก่

  1. การที่เราจะเข้าไปเสี่ยงนั้น ต้องเป็นอะไรที่ใหม่ (New Territory) โดยไม่เคยมีใครเคยเข้าไปทดสอบมาก่อน
  2. ต้องมี ’โอกาส’ ในสิ่งที่เราจะเข้าไปลองเสี่ยงดู (Opportunity Driven)
  3. ต้องศึกษาข้อมูลและศาสตร์ต่างๆเท่าที่จะหาได้ในโลก สำหรับการเตรียมตัวจะเข้าไปเสี่ยงในสิ่งใดๆก็ตาม (Do your homework)
  4. ต้องเสี่ยงในขนาดที่เหมาะสมกับคุณ โดยหากพลาดแล้วต้องไม่ทำให้สิ้นเนื้อประดาตัวหรือบาดเจ็บสาหัส (Small Bets)

โดยหนังสือเล่มนี้ยกตัวอย่าง ความผิดพลาดครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตของเรย์ ดาลิโอ ผู้ก่อตั้งบริษัทการลงทุนยักษ์ใหญ่ Bridgewater จนเกือบต้องล้มละลายในปี 1982 โดยในช่วงเวลานั้น ดาลิโอได้เข้ามาทำธุรกิจในวงการการลงทุนเฮดจ์ฟันด์ได้สักพักแล้ว เริ่มเป็นที่รู้จักบ้างในวงการว่าสามารถทำนายเศรษฐกิจสหรัฐได้แม่นยำและสามารถลงทุนได้กำไรค่อนข้างดี โดยเขามีบริษัทเฮดจ์ฟันด์ขนาดย่อมๆมีพนักงานอยู่หลายสิบคน

ทว่าในปี 1982 เขาดูจะมั่นใจเป็นอย่างมากเป็นพิเศษ ว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย จึงตัดสินใจลงทุนอย่างเกินตัวไปมากสำหรับการ bet ต่อมุมมองเศรษฐกิจดังกล่าว จนกระทั่งต้องกู้หนี้ยืมสินมากมายหลังจากที่ขาดทุนจากการลงทุนในความเชื่อดังกล่าวนั้น ซึ่งปรากฏว่าเศรษฐกิจสหรัฐไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยแต่อย่างใดหลังจากปี 1982 โดยเขาบอกว่าเหตุการณ์นั้นเขาเกือบต้องออกจากวงการไปแบบถาวร เนื่องจากเกือบจะไม่มีเงินพอที่จะจ่ายเจ้าหนี้ไหว โดยดาลิโอบอกว่าเขาจะไม่ bet เกินตัวอีกต่อไป เพราะเรียนรู้แล้วว่าการแก้ความผิดพลาดที่เกิดจากสิ่งนี้นั้นเจ็บปวดมากกว่าที่เขาเคยคิดไว้หลายร้อยเท่าตัว

โดยเอ็ดมอนด์สันมองว่าการเสี่ยงในครั้งนั้นของดาลิโอถูกต้องตามหลักการของเธออยู่ใน 3 ข้อแรก ทว่าพลาดในข้อสุดท้าย

จริงๆแล้ว หนังสือเล่มนี้ ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่มีคุณค่าเป็นอย่างมาก จนผมมีความเห็นว่าคุณควรจะหาเวลาอ่านอย่างน้อย 1 รอบครับ

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

Comments