วิกฤตอสังหาฯจีน 2023: ย้อนรอยซับไพร์มสหรัฐ

บทความนี้ จะขอแชร์มุมมองเกี่ยวกับปัญหาอสังหาริมทรัพย์จีนว่า ทำไมถึงได้เกิดขึ้นและเป็นข่าวดังในขณะนี้ มีความเหมือนหรือแตกต่างจากวิกฤตซับไพร์มสหรัฐอย่างไร

7800

บทความนี้ จะขอแชร์มุมมองเกี่ยวกับปัญหาอสังหาริมทรัพย์จีนว่า ทำไมถึงได้เกิดขึ้นและเป็นข่าวดังในขณะนี้ มีความเหมือนหรือแตกต่างจากวิกฤตซับไพร์มสหรัฐอย่างไร

และเพราะเหตุใด ดร. นูเรล รูบินี หรือ ดร. ดูม ผู้ที่มองเศรษฐกิจจีนว่าจะล่มสลายมาตลอด จึงค่อนข้างเงียบในรอบนี้

เริ่มจากคำถามแรกว่า ภาคการเงิน และภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน มีขนาดใหญ่มากน้อยแค่ไหน?

คำตอบ คือคาดการณ์ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน มีขนาดประมาณ 21% ของจีดีพี ที่ประมาณ $4.5 ล้านล้าน ส่วนภาคการเงินของจีน ในตลาดบอนด์ มีขนาด $20 ล้านล้าน โดยประมาณครึ่งหนึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ส่วนราว 30% เป็นหุ้นกู้จากสถาบันการเงิน อีก 5% เป็นพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ท้ายสุด ตราสารของ Local Government Facility Vehicle (LGFV) และ รัฐวิสาหกิจท้องถิ่น ที่ว่ากันว่าเป็นส่วนที่กลายเป็น Shadow Banking ดังที่จะกล่าวถึงต่อไปนั้น มีอยู่ราว 16% หรือ ประมาณ $3 ล้านล้าน

โดยประมาณหนึ่งในสาม มาจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งนั่นหมายถึงปัญหาอสังหาฯจีนในส่วน Shadow Banking มีขนาดประมาณ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าปัญหาเล็กกว่าวิกฤตซับไพร์มสหรัฐเมื่อ 15 ปีก่อน โดยจีดีพีจีนในตอนนี้มีขนาดใหญ่กว่าจีดีพีสหรัฐในช่วงนั้นประมาณ 38%

แล้วทำไมอสังหาฯจีน จึงมาเป็นปัญหาหนัก ซึ่งได้เกิดขึ้นมาหลายปี?
ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของชาวจีนกันเสียก่อน สำหรับชาติตะวันตกนั้น ประชาชนส่วนใหญ่จะออมผ่านการลงทุนในตลาดหุ้น ส่วนชาวจีนนั้น จะลงทุนหรือออมผ่านการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

โดยสาเหตุหลักๆ ก็คล้ายกับคนทั่วไป คือ จะสนใจลงทุนในตราสารการเงินที่ให้อัตราผลตอบแทนที่สูงหากพิจารณาจากระยะเวลา 20-40 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในชาติตะวันตก จะชี้ไปว่าตลาดหุ้นให้อัตราผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวเนื่องจากบริษัทในภาคเอกชนที่มีคุณภาพและตรวจสอบได้จะมาระดมทุนผ่านตลาดหุ้น ส่วนของจีนนั้น การเก็บออมในระยะยาว ชาวจีนจะทำผ่านตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยที่ผ่านมาในอดีต รัฐบาลจีนสนับสนุนตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนให้เติบโตมาตลอด

โดยจากอดีตที่ผ่านมา ในทางปฏิบัติ โครงการโปรเจ็คต์อสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆของจีนจะใช้ที่ดินของรัฐบาลท้องถิ่นเป็นแหล่งเงินเริ่มต้น โดยรัฐบาลท้องถิ่นขายหรือเช่าที่ดินแบบสัญญาระยะยาว ให้กับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จากนั้นจะทำหน้าที่เป็นเจ้าหนี้ปล่อยกู้กลับไปให้กับผู้พัฒนาโครงการอสังหาฯ

อย่างไรก็ดี ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทางการจีนไม่อยากให้ภาคอสังหาฯจีนเกิดฟองสบู่ให้มากไปกว่านี้ จึงตัดสินใจเปลี่ยนกฎเกณฑ์ให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารหารายได้จากที่ดินได้ยากขึ้น จนเป็นเหตุให้บริษัทอย่าง Country Garden และ Zhongrong Trust เข้ามาเป็นแหล่งเงินให้กับผู้พัฒนาอสังหาฯแทน หรือที่เรียกกันว่า Shadow Banking

ซึ่งในช่วงเดือนนี้ ได้เกิดปัญหาสภาพคล่องจนไม่สามารถจ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้แบบ Onshore และผู้ถือตราสาร Wealth Management Product ตามลำดับ เนื่องจากผู้พัฒนาอสังหาฯไม่สามารถขายบ้านในโครงการของตนเองได้อย่างที่วางแผนไว้

ตรงนี้ ถือว่าใกล้เคียงกับวิกฤตซับไพร์มสหรัฐ ตรงที่อสังหาริมทรัพย์ที่ไม่สามาถขายได้เป็นบ่อเกิดให้กลายเป็นวิกฤตการเงินเหมือนกัน เพียงแต่กรณีวิกฤตซับไพร์มมาจากอันดับเครดิต AAA ที่สถาบันจัดอันดับเครดิตให้กับสินเชื่อซับไพร์ม

ทั้งนี้ ในทางทฤษฎี วิกฤตการเงินสามารถแบ่งได้เป็น 3 รุ่น ได้แก่
วิกฤตที่เกิดจากนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ตัวอย่าง คือวิกฤตต้มยำกุ้ง

วิกฤตที่เกิดจาก Interaction ระหว่าง ภาครัฐ และ เอกชน
ตัวอย่าง คือ วิกฤตอังกฤษปี 2022 โดย ริซ ทรัส 
จาก แนวคิด Trussonomics โดยตั้งเป้าหมายของอัตราการเติบโตของจีดีพีอังกฤษไว้ที่ร้อยละ 2.5 โดยประกาศนโยบายการผ่อนคลายนโยบายการคลังผ่าน mini-budget หรือมาตรการลดภาษีต่อผู้เสียภาษีและภาคธุรกิจต่างๆ รวมถึงการยกเลิกอัตราสูงสุดของโบนัสของผู้บริหารสถาบันการการเงิน และงบประมาณช่วยเหลือด้านบิลค่าไฟฟ้าในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อชาวอังกฤษ โดยงบประมาณทั้งหมดดังกล่าวคิดเป็นประมาณร้อยละ 2 ของจีดีพี

โดยทันทีที่มาตรการดังกล่าวประกาศออกมา ปรากฎว่า ค่าเงินปอนด์จะดิ่งลงด้วยขนาดมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 นับจากเหตุการณ์ Black Wednesday ที่มีการโจมตีค่าเงินปอนด์ ในปี  1992 รวมถึงระดับค่าเงินปอนด์จะมีค่าใกล้เคียงกับ 1 ดอลลาร์ เนื่องจากมีความกังวลว่าเม็ดเงินมหาศาลที่รัฐบาลอังกฤษจะทุ่มใช้จ่ายนี้จะไปซ้ำเติมต่อภาวะอัตราเงินเฟ้อที่ได้ขึ้นมาสูงถึงระดับตัวเลขสองหลัก

รวมถึงเศรษฐกิจอังกฤษที่ในตอนนั้นทั้งธนาคารอังกฤษและสถาบันวิจัยหลายแห่งต่างยอมรับว่าได้เข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าธนาคารกลางอังกฤษได้ใช้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นหนทางแก้ไข ซึ่งแอนดริว ไบลีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษหรือบีโออี ได้ประกาศดอกเบี้ยแบบไม่อั้นเพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้ออังกฤษกลับมาอยู่ในระดับที่เป็นเป้าหมายของบีโออี จากนั้นภาคครัวเรือนก็ยังจะต้องมาแบกภาระดอกเบี้ยจากหนี้บ้านและหนี้ประเภทอื่นๆแบบหนักขึ้นอีก ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมชาวอังกฤษที่ต้องแบกรับค่าพลังงาน ที่สูงมากอยู่แล้ว

วิกฤตที่เกิดจาก ความเชื่อหรือความคาดหวังของประชาชน (Self-fulfilling) โดยปัญหาอสังหาริมทรัพย์จีน ในขณะนี้ ได้กลายเป็นจุดกำเนิดของวิกฤตความเชื่อมั่นต่อประชาชนชาวจีนที่มีเงินออมส่วนหลักอยู่ในรูปแบบของการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ชาวจีนไม่กล้าหรือมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งส่งผลให้ตัวเลขเศรษฐกิจของจีนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ออกมาแบบซบเซาจนน่ากังวล

ตรงนี้ ต่างหากที่ทางการจีนได้ออกมายอมรับว่าคือปัญหาเศรษฐกิจจีนในตอนนี้ ทว่าทางการจีนยังมั่นใจว่าจะแก้ปัญหาในจุดนี้ได้ในที่สุด

สำหรับกรณีจีนมีลักษณะคล้ายกับวิกฤตรุ่นที่ 3 มากกว่า ซึ่งทางรูบินี น่าจะมองว่าเป็นลักษณะของวิกฤตที่มีโอกาสเกิดหรือไม่เกิดก็ได้ แล้วแต่ปัจจัยต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (Multiple Equilibria) ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไป

ที่มาภาพ: CNN

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

Comments