“เงินเฟ้อจังหวะถัดไป” อาจลงยากขึ้นเพราะ…

อัตราเงินเฟ้อในจังหวะช่วงถัดไป ทำไมจึงมีความเป็นได้ที่จะลดลงโดยใช้ระยะเวลานานขึ้นมาก โดยหลายฝ่ายคาดว่าน่าจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี?

1452

ณ ตอนนี้ มีอยู่หลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐหรือในยุโรป ที่เราได้เห็นอัตราเงินเฟ้อลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งจากระดับที่เป็นช่วงสูงสุด ภายในระยะเวลาปีกว่าๆ

อย่างไรก็ดี ในจังหวะนี้ มีสัญญาณบางอย่างที่สามารถทำให้ประเมินได้ว่าปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว หรือ DM ในตอนนี้ซึ่งยังสูงกว่าเป้าหมายที่ 2% ส่วนใหญ่มาจากฝั่งอุปสงค์ในประเทศมากกว่าฝั่งอุปทาน ดังต่อไปนี้

สัญญาณแรก ได้แก่ การกระจายตัวของเงินเฟ้อจะเป็นแบบที่กว้างมากขึ้นในแทบทุกชนิดรายการสินค้าและบริการ โดยที่หากพิจารณารายไอเท็มต่างๆในตระกร้าสินค้าที่ใช้ในการคำนวณ CPI สำหรับเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว จะพบว่ากว่า 2 ใน 3 สูงเกินกว่า 3% กว่าๆ โดยที่อัตราเงินเฟ้อจะลดลงเฉพาะบางหมวด อาทิ หมวดอาหารสดและการท่องเที่ยวช่วงวันหยุด โดยราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นสูงขึ้นนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในหมวดน้ำมัน ไฟฟ้า และค่าเช่าเพียงเท่านั้น แต่ได้ขึ้นมาค่อนข้างแรงในหมวดสินค้าและบริการเกือบทั้งหมด

สัญญาณที่สอง ซึ่งชี้ว่าเงินเฟ้อถูกขับเคลื่อนโดยอุปสงค์ในประเทศคือการที่ภาคบริการส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อโดยรวมมากขึ้นเรื่อยๆ  ไม่ว่าจะเป็นร้านตัดผม ร้านทำฟัน ร้านอาหารนอกบ้าน หรือกิจกรรมกีฬาต่างๆ โดยราคาของบริการเหล่านี้ล้วนขึ้นอย่างค่อนข้างรวดเร็ว ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนถึงสภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจะบอกเราได้ว่าอุปสงค์โดยรวมของประเทศสูงกว่าอุปทานโดยรวม ส่งผลให้ระดับราคาภาคบริการสูงขึ้น โดยสัดส่วนหลักของต้นทุนของบริการเหล่านี้ คือค่าแรงของคนทำงาน ซึ่งโดยภาพรวม ก็สูงขึ้นในแทบทุกประเทศใน DM โดยที่ราคาของสินค้านำเข้าเริ่มจะลดลงเป็นลำดับ

สัญญาณที่สาม คือความต่อเนื่องของกำลังการผลิตสำรองที่ร่อยหรอลงเรื่อยๆ ซึ่งปรากฏชัดว่าจากการที่ใช้กำลังการผลิตของแรงงานโดยมีอัตราสูงขึ้น โดยที่มีผลการศึกษาทางวิชาการในอดีต ที่ระบุว่าความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อภาคบริการและกำลังการผลิตสำรอง (Spare Capacity) มีลักษณะที่ผกผันกัน โดยในขณะนี้ สถานการณ์คือเหลือกำลังการผลิตสำรองอยู่ไม่มาก จึงทำให้อัตราเงินเฟ้อภาคบริการสูงขึ้น โดยที่ลูกจ้างสามารถเรียกร้องค่าแรงเพิ่มได้ง่ายกว่าปกติ เนื่องจากมีมีกำลังแรงงานสำรองอยู่ในตลาดไม่มาก โดยการที่จะลดอัตราเงินเฟ้อที่มาจากฝั่งอุปสงค์นั้น ต้องใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวเท่านั้น และการตึงตัวดังกล่าว กว่าจะส่งผลถึงอัตราเงินเฟ้อให้ลดลงนั้น โดยปกติมักจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี แน่นอนว่าผู้กู้สินเชื่อประเภทต่างๆ ย่อมได้รับผลกระทบเชิงลบต่อเงินงวดที่ต้องผ่อนซึ่งต้องเพิ่มขึ้น ทว่าการที่ไม่ทำให้เงินเฟ้อลดลงมานั้น จะส่งผลเสียต่อราคาสินค้าและบริการที่สูงขึ้นให้เป็นภาระที่มากกว่าในที่สุด

ท้ายสุด การทำให้สภาวะเสถียรภาพด้านการเงินของเศรษฐกิจให้ดีขึ้น บางครั้งจำเป็นต้องยอมให้นโยบายการเงินไม่ตึงตัวมากนัก ซึ่งในสถานการณ์ที่อัตราเงินเฟ้อยังคงสูงกันอยู่ในเศรษฐกิจ DM โดยทั่วไป คงต้องให้ความสำคัญต่อนโยบายการเงินในน้ำหนักที่มากกว่านโยบายเสถียรภาพด้านการเงิน อย่างไรก็ดี ในบางจังหวะที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐแกว่งแบบผันผวนสุดๆ อาจจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับนโยบายเสถียรภาพด้านการเงินไว้ก่อน นั่นคืออาจต้องคิดว่าการเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐ อาทิ ประเภทอายุ 10 ปี ถือเป็นสิ่งที่ช่วยให้ Financial condition ตึงตัวขึ้นมา ซึ่งมองไปว่าสามารถทดแทนการขึ้นดอกเบี้ยได้ เพราะช่วยชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ นั่นคือลดการตึงตัวของนโยบายการเงินลงเพื่อเน้นให้เกิดเสถียรภาพด้านการเงินไว้ก่อน แม้ว่าแนวคิดนี้ ถือว่าไม่ได้เป็นที่ยอมรับในหมู่นักวิชาการทุกๆกลุ่ม ณ ตอนนี้ ก็ตามที

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ยังสูงจากฝั่งอุปสงค์ในช่วงนี้ น่าจะจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวในการดึงให้เงินเฟ้อลงมา อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ว่านโยบายการเงินของธนาคารกลางส่วนใหญ่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว กำลังใกล้จะถึงจุดสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยนโยบายใน Cycle นี้ ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อในจังหวะช่วงถัดไป มีความเป็นได้ที่จะลดลงได้ยากขึ้นและใช้ระยะเวลานานขึ้นมาก โดยหลายฝ่ายคาดว่าน่าจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 ปีในการทำให้เงินเฟ้อโดยรวมลดลงมาที่เป้าหมาย 2%

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

ที่มาภาพ: Assignment Point, FX Empire

Comments