ทำไม ‘บอริส จอห์นสัน’  ถึงอย่างไรก็ไม่ออก?

บทความนี้ จะมาแนะนำหนังสือ 3 เล่มเกี่ยวกับผู้นำอังกฤษที่น่าสนใจ ให้รู้จักกัน

1262

บทความนี้ จะมาแนะนำหนังสือ 3 เล่มเกี่ยวกับผู้นำอังกฤษที่น่าสนใจ ให้รู้จักกัน

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ใกล้เทศกาลตรุษจีนของทุกปี ผมจะนำหนังสือที่น่าสนใจมาแนะนำให้กับท่านผู้อ่าน ซึ่งในปีนี้ อาจจะดูแปลกกว่าปีที่ผ่านๆมา ผมนำหนังสือแนว Fiction มารีวิวเป็นครั้งแรก เล่มนี้ มีชื่อว่า Munich: the Edge of War เขียนโดยโรเบิร์ต แฮร์ริส

โดยเนื้อหานำมาจากเค้าโครงเรื่องจริง ที่เนวิล แชมเบอร์เรน อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ระหว่างปี 1937-1940เดินทางไปลงนามสนธิสัญญาสงบศึกกับอดอลฟ์ ฮิตเลอร์ อดีตผู้นำเผด็จการเยอรมัน และ ผู้นำฝรั่งเศส ที่เมืองมิวนิค ในปี 1938 หลังจากที่เยอรมันเตรียมเคลื่อนพลบุกยึดเช็คโกสโลวาเกีย ผ่านตัวละครเด่น 2 หนุ่ม โดยคนหนึ่งเป็นชาวอังกฤษ และอีกคนเป็นชาวเยอรมัน ซึ่งทั้งคู่เป็นเพื่อนกันสมัยเรียนที่ออกซ์ฟอร์ด อีกทั้งหนังสือเล่มนี้ได้นำมาทำเป็นภาพยนตร์ด้วยและสามารถรับชมได้ทางเน็ตฟลิกซ์

เรื่องจริงดังกล่าว นำมาซึ่งเรื่องราวที่น่าสนใจโดยที่หนุ่มชาวเยอรมันซึ่งทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งใกล้ชิดฮิตเลอร์เกือบจะลงมือสังหารฮิตเลอร์ด้วยเหตุผลที่ผมไม่ขอเล่าให้ฟัง อยากให้ท่านผู้อ่านไปอ่านหนังสือหรือชมภาพยนตร์เรื่องนี้ดีว่า แต่ที่น่าสนใจคือตัวละครหนุ่มชาวเยอรมันนี้มีตัวตนจริงและท้ายสุด ก็ถูกประหารชีวิตโดยทางการเยอรมันในปี 1940

จุดที่ผมอยากจะนำเสนอของหนังสือเล่มนี้ คือ การนำเรื่องราวของเนวิล แชมเบอร์เรน มาตีความใหม่ ซึ่งหากใครที่ได้รับรู้จากสื่อต่างๆหรือแม้แต่ภาพยนตร์เรื่องดัง Darkest Hour ที่เล่าถึงวินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษในช่วงการประกาศสงครามกับเยอรมันในปี 1940 ภาพลักษณ์ของแชมเบอร์เรนมักจะถูกกล่าวถึงในเชิงลบมากกว่าเชิงบวก

โดยหนังสือเล่มนี้ได้ยกย่องแชมเบอร์เรนว่าได้ตั้งใจถ่วงเวลามิให้กองทัพของฮิตเลอร์เคลื่อนพลเข้าสู่ยุโรปในทันที เพื่อให้กองทัพอังกฤษได้มีโอกาสเตรียมพร้อมในการรับมือกับ สงครามครั้งใหญ่ที่ยากจะเลี่ยงได้ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งการลงนามของแชมเบอร์เรน ที่มิวนิคในสายตาคนทั่วไป มักจะถูกมองว่าอังกฤษไปยอมให้เยอรมันและเพียงแค่ 1 ปีทางฮิตเลอร์ก็บุกยึดเช็คโกสโลวาเกียและโปแลนด์ในเวลาต่อมาอยู่ดี

ซึ่งการที่เป็นเช่นนี้ ส่วนหลักมาจากการที่อังกฤษซึ่งร่วมกับฝั่งพันธมิตรสามารถ เป็นฝ่ายชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในยุคของผู้นำที่มีชื่อว่าวินสตัน เชอร์ชิล จึงทำให้ภาพของเนวิล แชมเบอร์เรนที่ถือว่าเป็นคนละข้างกับเชอร์ชิลในทางการเมือง แม้จะอยู่ภายใต้พรรคการเมืองเดียวกัน ออกมาในเชิงลบมากกว่า ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากวลีที่ว่า ‘ประวัติศาสตร์… เขียนโดยผู้ชนะ’

ยังมีหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ลงรายละเอียดเกี่ยวกับวินสตัน เชอร์ชิลโดยตรง เขียนโดย บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนปัจจุบัน ชื่อว่า The Churchill Factor

โดยในเล่มนี้ จอห์นสันซึ่งศึกษาประวัติของเชอร์ชิลอย่างลึกซึ้งได้เล่าถึงเรื่องราวและนิสัยของอดีตผู้นำอังกฤษในอีกมุมหนึ่ง  โดยส่วนใหญ่จะเน้นถึงประเด็นที่เชอร์ชิลมีหลายๆอย่างที่เหมือนคนทั่วไป มีทั้งในแง่ดีและแง่ที่ดูแล้วออกจะดูเนิร์ด หรืออาจถึงขั้นที่เรียกว่าเปิ่นๆ หรือถ้าเป็นคำสมัยนี้ คือ ‘ดูเยอะ’ และที่สำคัญ จอห์นสันเน้นว่าเชอร์ชิลไม่ได้ร่ำรวย และต้องถึงขนาดที่ในความเห็นของผมจากการตีความภาษาของจอห์นสัน คือต้องพยายามเป็นอย่างมากในการดิ้นรนที่จะสามารถทำหน้าที่เป็นนักการเมืองให้ได้ ซึ่งหลายๆอย่างคล้ายกับบอริส จอห์นสันเป็นอย่างมาก ทว่าเราแทบจะไม่ได้ ยินเรื่องราวแบบนี้ของวินสตัน เชอร์ชิลเลย

นอกจากนี้ หนังสืออีกเล่มที่ชื่อว่า Clement Attlee: The Man Who Made Modern Britain เขียนโดย จอห์น บิว ที่ได้นำเรื่องราวของคลีเมนท์ แอทลี อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ระหว่างปี 1945-1951 รวมถึงเป็นผู้นำพรรคแรงงานในยุคนั้นอีกด้วย

หนังสือเล่มนี้ ได้มีการตีความผลงานของอดีตนายกฯ คลีเมนท์ แอทลีขึ้นมาใหม่ โดยเน้นว่าหากไม่ใช่เป็นเพราะแอทลีทำหน้าที่ผู้นำพรรคแรงงานแล้ว แนวคิดคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียตในยุคนั้นคงเข้ามาคลอบงำในแวดวงการเมืองอังกฤษไปแล้ว รวมถึง โจเซฟ สตาลิน คงจะเข้ามาเป็นพันธมิตรกับอังกฤษมากกว่านี้

อย่างไรก็ดี คลีเมนท์ แอทลี มักจะได้รับการตีความจากสังคมว่ามีแนวคิดที่สนับสนุน สหภาพแรงงานแบบสุดโต่ง จนทำให้เชอร์ชิลกลับมาเป็นผู้นำอังกฤษสมัยที่สองต่อจากเขา เช่นกัน ในเรื่องนี้เข้ากับวลี ‘ประวัติศาสตร์… เขียนโดยผู้ชนะ’ อีกครั้งหนึ่ง

อันมาถึงคำถามที่ว่า ทำไม ‘บอริส จอห์นสัน’ ถึงอย่างไรก็ไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งผู้นำอังกฤษ  จากปารตี้ในที่ทำงานในช่วงล็อคดาวน์โควิดเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ใช่แล้วครับ เพราะจอห์นสันรู้ดีว่า ‘ประวัติศาสตร์… เขียนโดยผู้ชนะ’ ดังนั้นไม่ว่าใครจะกล่าวหาเขาอย่างไร จอห์นสันจึงไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษเองอย่างแน่นอน

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

 

 

Comments