มหากาพย์ ‘วิกฤตตุรกี’: ต้มยำกุ้งแบบ ‘หัวกลับ’?

ทำไม‘วิกฤตเศรษฐกิจตุรกี’: จึงคล้ายวิกฤตต้มยำกุ้งแบบ ‘หัวกลับ’ อ่านได้จากบทความนี้

1748

โดยธรรมชาติแล้ว เศรษฐกิจที่มีอุตสาหกรรมซึ่งมีความสามารถในการแข่งขันสูง อย่างตุรกี ไม่ควรจะต้องมาเป็นข่าวพาดหัวว่าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเหมือนเช่นในวันนี้

ความจริงแล้ว พรรค AKP ของประธานาธิบดี ตุรกี รีเซบ ธายิป เออร์โดแกน เมื่อกว่า 10 ปีก่อน ช่วงที่ได้เข้ามาเป็นรัฐบาลตุรกีครั้งแรก ได้เข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดำเนินนโยบายการคลังแบบเข้มงวด จนเมื่อ 9 ปีก่อน หลายคนยังมองว่าเศรษฐกิจตุรกีจะขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศของกลุ่มชั้นนำในยุโรป

คำถามคือ แล้วเศรษฐกิจตุรกีต้องมาเกิดวิกฤตในช่วงนี้ได้อย่างไร?

แม้ว่าในช่วงนี้ จีดีพีของตุรกีจะเติบโตถึงกว่า 7%  ซึ่งสถานการณ์โควิดไม่ได้ทำให้ เศรษฐกิจตุรกีเติบโตช้าลงแต่อย่างใด จะเห็นได้ว่าภาพความแข็งแกร่งในมิติของ อัตราการเติบโตเศรษฐกิจของตุรกีไม่ได้ลดลงแม้แต่น้อย อีกทั้งพรรค AKP มีจุดเด่นตรงที่คุมฐานะการคลังของรัฐบาลได้ดีมาตลอด

ทว่าจากการเป็นผู้นำที่ค่อนข้างจะเผด็จการของเออร์โดแกน ทำให้ตุรกีก็อาจจะกล่าวได้ว่าเริ่มเกิดวิกฤตการเงินเข้าจนได้ แม้จีดีพีของตุรกีในตอนนี้จะเติบโตได้ดี ทว่าการที่กลัวเศรษฐกิจจะหดตัวจากความไม่เชื่อมั่นของต่างชาติหลังเกิดความพยายามรัฐประหารรัฐบาลเมื่อปี 2015 เออร์โดแกน จึงตัดสินใจกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยแพ็คเกจที่ค่อนข้างแรงจึงทำให้อัตราเงินเฟ้อขึ้นมาราว 13% เมื่อกลางปีที่แล้ว อีกทั้งเกิดการขาดดุลการชำระเงินเป็นอย่างหนัก จากการที่เศรษฐกิจมีความร้อนแรง จน ณ ตอนนี้ อัตราเงินเฟ้อขึ้นมาถึง 49% ซึ่งทางการตุรกีก็แก้ปัญหาโดยขึ้นค่าแรง ด้วยระดับที่ใกล้เคียงกัน

ด้วยการที่เออร์โดแกนเป็นผู้นำเผด็จการ ทำให้ไม่มีกุนซือคนไหนกล้าทักท้วง หากเขาเชื่ออะไรฝังใจสักอย่าง โดย ‘เออร์โดแกนมองว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่เหมือนปีศาจร้าย’ เขาเชื่อว่าคำแนะนำของชาติตะวันตกที่จะให้ตุรกีขึ้นดอกเบี้ยเป็นเหมือนทฤษฎีสมคบคิด หรือ conspiracy theory ของชาติตะวันตกที่ต้องการไม่ให้เศรษฐกิจตุรกีเจริญก้าวหน้า เหมือนอย่างในอดีต ที่สหรัฐเคยตั้งใจทำให้ค่าเงินเยนแข็งและอัตราดอกเบี้ยญี่ปุ่น สูงในทศวรรษ 1980 เพื่อมิให้ญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ทางเศรษฐกิจแทนที่สหรัฐ ส่วนจีนภายใต้ผู้นำ เติ้ง เสี่ยว ผิง ใช้นโยบายค่าเงินอ่อนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจจีน จึงสามารถรุ่งเรืองได้จนถึงปัจจุบัน

เขามองแบบออกจะเข้าใจผิดว่าต้องลดดอกเบี้ยเพื่อที่จะลดอัตราเงินเฟ้อของตุรกี จึงลดอัตราดอกเบี้ย นโยบายลงจากร้อยละ 19 เมื่อเดือนกันยายน 2021 เหลือร้อยละ 14 เมื่อเดือนธันวาคม 2021

สิ่งนี้สร้างความตระหนกให้กับนักลงทุนต่างประเทศเป็นอย่างมาก จนกระทั่งค่าเงินไลร่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้วร่วงลงกว่า 40% รวมถึงชาวตุรกีพาเหรดกันไปฝากเงินในต่างประเทศ

ทางการตุรกีก็หาทางแก้ในระยะสั้นด้วยการออกแผน Saving Protection Scheme กล่าวคือหากผู้ใดฝากเงินสกุลไลร่าแบบ fixed 12 เดือน แล้วหลังจาก 12 เดือนผ่านไปแล้ว ค่าเงินไลร่าของตุรกีอ่อนค่าลงเท่าใด นอกจากดอกเบี้ยที่จะได้รับแล้ว ทางการตุรกีก็จะชดเชยส่วนที่อ่อนค่าลงนั้นให้กับผู้ฝากเงินดังกล่าว อย่างไรก็ดี หากค่าเงินตุรกคงที่หรือแข็งค่าขึ้น ก็จะได้รับเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยที่สัญญาไว้ นอกจากนี้ หากผู้ฝากเงินถอนเงินก่อนกำหนด ก็จะถูกค่าปรับตามที่ระบุไว้ ในสัญญาเงินฝากเช่นกัน

สำหรับปัญหาเร่งด่วนอีกประการหนึ่งของตุรกีในตอนนี้ คือ ปริมาณสำรองเงินตรา ระหว่างประเทศลดลงเป็นอย่างมาก จนเมื่อคิดภาระ Forex Swap แล้วถึงกับจะติดลบเสียด้วยซ้ำ ซึ่งคล้ายกับวิกฤตต้มยำกุ้งปี 1997 ของไทย ทว่าเป็นแบบหัวกลับ ดังนี้

หากจะอธิบายวิกฤตทั้งสองครั้งด้วยทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า Impossible Trinity คือ

เราไม่สามารถที่จะมีสามสิ่งต่อไปนี้ พร้อมกันได้ คือ 1. นโยบายการเงินที่เป็นอิสระ 2. การไหลออกของเงินทุนอย่างเสรี และ 3. ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่

รูปแสดงปริมาณเงินสำรองแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศของตุรกี

โดยในกรณีของตุรกี เลือกที่จะมีความเป็นอิสระของนโยบายการเงินและการไหลออก ของเงินทุนอย่างเสรี จึงมีอัตราแลกเปลี่ยนไลร่าที่ไม่เป็นแบบอัตราคงที่ โดยการที่ทางการตุรกีไม่เลือกที่จะใช้แนวทางอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อ จึงส่งผลให้ค่าเงินไลร่าของตุรกีร่วงลงเป็นอย่างมาก แม้ว่าจะใช้เงินสำรองแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศเข้าแทรกแซงแบบที่เมื่อคิดภาระ Forex Swap แล้วจะติดลบเสียด้วยซ้ำ ดังรูป

ซึ่งตรงนี้ มีความคล้ายกับวิกฤตต้มยำกุ้ง ตรงที่เงินสำรองแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ ของบ้านเราเมื่อคิดภาระ Forex Swap แล้วในอดีตก็ติดลบ ทว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงนั้นมีความอ่อนแอทั้งในภาคการเงินและอสังหาริมทรัพย์ จึงทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงเป็นอย่างมาก แม้จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้สูงมาก ทว่าก็ยังไม่สามารถใช้สำรองเงินตราระหว่างประเทศแทรกแซงค่าเงินได้สำเร็จ เนื่องจากมีกองทุนเฮดจ์ฟันด์ต่างชาติเก็งกำไรค่าเงินบาทอยู่

คำถามต่อไปคือ แล้ววิกฤตตุรกีจะมีผลต่อ Sentiment ในการลงทุนอย่างไร? แน่นอนว่าถ้าวิกฤตตุรกีไหลไปเรื่อยๆ จนกระทั่งรุนแรงเป็นลูกโซ่ ย่อมทำให้ระดับความเสี่ยงของตลาดหุ้นและตลาดเงินในตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีความแข็งแกร่งในเชิงเศรษฐกิจมหภาคไม่สูงมาก จะพุ่งทะยานขึ้น เนื่องจากนักลงทุนจะกังวลว่าเหตุการณ์เช่นนี้ จะเกิดขึ้นในประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ รวมถึงจะตกเป็นเป้าของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ในการโจมตีค่าเงินและตลาดเงิน

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

 

 

 

Comments