เฟดกำลังถึงทางแยกใหม่ ก่อนปี 2023

พาวเวลได้ให้ความเห็นไว้ว่า เฟดจะลดความเร็วในการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายลง แต่จะขึ้นดอกเบี้ยเป็นระยะเวลายาวนานขึ้น ตรงนี้ เหมือนพาวเวลจะพยายามสื่อกับตลาดว่า เฟดถือคติ ‘เมื่อไม้แข็งใช้ไม่ได้ผล… ก็ต้องเล่นไม้นวมแบบนานขึ้น’ 

1008
(Photo by Drew Angerer/Getty Images)

ในการแถลงผลการประชุม FOMC จากธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด เมื่อกลางดึกวันที่ 2 พฤศจิกายน ตามเวลาในบ้านเรานั้น เจย์ พาวเวล ประธานเฟด นอกจากจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.75 ตามคาด ด้วยมติเอกฉันท์แล้ว ยังได้แสดงมุมมองต่อท่าทีนโยบายการเงินของสหรัฐในช่วงต่อไปแบบที่ดูเหมือนจะไม่ตึงตัวขึ้นแถมดูเหมือนจะผ่อนคลายลงในระยะสั้นเสียด้วยซ้ำ ทว่านโยบายการเงินสหรัฐเหมือนว่าจะตึงตัวขึ้นในปีหน้า ผมขอนำไฮไลต์ต่างๆเพื่อจะสื่อมุมมองที่มีต่อผลการประชุมครั้งสำคัญ ดังนี้

โดยพาวเวลได้ให้ความเห็นไว้ว่า เฟดจะลดความเร็วในการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายลง แต่จะขึ้นดอกเบี้ยเป็นระยะเวลายาวนานขึ้น ตรงนี้ เหมือนพาวเวลจะพยายามสื่อกับตลาดว่า เฟดถือคติ ‘เมื่อไม้แข็งใช้ไม่ได้ผล… ก็ต้องเล่นไม้นวมแบบนานขึ้น’  ซึ่งน่าจะมาจากการที่เฟดประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐไม่น่าจะพุ่งแรงมากนับจากนี้ไป แต่ก็ไม่สามารถที่จะเอาให้ลดลงมาได้เช่นกัน หรือ กล่าวแบบเชิงเทคนิค ประมาณว่า ‘Not overshooting, but Persistent Inflation’

ซึ่งตรงนี้ ผมมองว่าพาวเวลต้องการที่จะเก็บกระสุนไว้ใช้นานๆ เพราะกลายเป็นว่าสงครามกับเงินเฟ้อของเฟดในรอบนี้ จะคล้ายกับกรณีสงครามรัสเซียบุกยูเครน ที่ตอนแรกคิดว่าจะจบแบบเบ็ดเสร็จในเร็ววัน ทว่าเอาเข้าจริงกลายเป็นว่ากลับเป็นสงครามที่ยืดเยื้อ ดังนั้นเฟดคงต้องระมัดระวังในการใช้กระสุนไม่ให้ยิงออกมาแบบพร้ำเพรื่อ แถมยังต้องบอกกับสาธารณชนว่าจะต้องจัดเตรียมกระสุนเพิ่มเติมอีกเพื่อเก็บไว้ในคลังเผื่อเอาไว้ใช้เป็นเวลานานๆหากว่าจำเป็น

สำหรับเหตุผลที่พาวเวลให้ไว้ในคำแถลงนโยบายการเงินสำหรับการปรับโทนการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้ มาจากระยะเวลาระหว่างตอนที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยกับตอนที่นโยบายดังกล่าวส่งผลจริงๆต่อเงินเฟ้อ ต้องใช้ระยะเวลาประมาณหนึ่ง หรือที่ชอบเรียกกันว่ามี Lag อย่างที่พาวเวลเคยกล่าวไว้ในวลี ‘Long & Variable Lag’ อยู่บ่อยครั้ง โดย Lag มักจะอยู่ที่ระหว่าง 12-20 เดือน ในขณะที่เฟดมองว่าปัจจัยของสงครามรัสเซียที่มีต่อยูเครน รวมถึงนโยบาย Zero-Covid ของจีนก็ทำให้จำเป็นต้องเปลี่ยนกลยุทธ์มาทำนโยบายการเงินแบบตึงตัวให้มีระยะเวลายาวนานขึ้น

ผมยังมองว่าเฟดคงน่าจะประเมินว่าตัวเลขความคาดหวังของอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Expectation) ของสหรัฐ ไม่น่าจะขึ้นไปกว่านี้มาสักเท่าไหร่ ทว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐจะค่อยๆสูงขึ้นแบบที่คลอบคลุมสินค้าและบริการในแต่ละรายการไปเรื่อยๆจนเกือบครบทุกหมวดหมู่ แถมระดับอัตราเงินเฟ้อของสินค้า (Goods) ก็จะไม่ลดลงเยอะตามคาด หนำซ้ำระดับอัตราเงินเฟ้อของภาคบริการจะดีดตัวสูงขึ้นเร็วขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งส่อเค้าว่าจะลากยาวด้วย

ดังนั้น กลยุทธ์ในการต่อสู้กับเงินเฟ้อของเฟดจึงต้องเน้นความรัดกุมมากกว่าการเร่งให้นโยบายการเงินตึงตัวแบบคาดไม่ถึง นั่นคือ นโยบายการเงินของเฟด ต้องไม่เน้นเล่นเกมเร็วแบบกดดันให้เงินเฟ้อลดลงเร็วๆสไตล์ เจเก้น คลอปป์ เพราะใช้กับเงินเฟ้อแบบนี้ไม่ได้ผล ก็ต้องเปลี่ยนยุทธวิธีแบบตั้งรับแล้วรอสวนกลับ เหมือน โจเซ่ มูริญโญ่

นอกจากนี้ ด้วยการที่พาวเวลอาจยังไม่เชื่อในแนวคิดอัตราดอกเบี้ยที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน (Neutral Rate) มากสักเท่าไหร่ เลยเน้นปรับให้ระดับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่เฟดจะขึ้นไปถึง (Terminal Rate) ให้อยู่ในโซนสูงไว้ก่อน โดยส่งสัญญาณว่า Terminal Rate จะสูงขึ้นกว่าที่เคยให้คำแนะนำไว้ก่อนหน้านี้ ตรงนี้ ทำให้ตลาดมีปฏิกิริยาในเชิงลบค่อนข้างสูงในประเด็นนี้

ท้ายสุด เฟดยังดึงเกมการขายพันธบัตรที่เคยซื้อไว้ช่วงทำ QE หรือที่เรียกกันว่า Quantitative Tightening (QT) เพื่อลดงบดุลเฟด ว่ายังคงใช้ร่างเดิมเมื่อออกมาตอนกลางปีไปก่อน ซึ่งเป็นไปได้ว่าเฟดอาจจะกังวลว่าตลาดพันธบัตรสหรัฐจะแกว่งเหมือนตลาดพันธบัตรอังกฤษเมื่อเดือนที่แล้ว หากจะทำนโยบายนี้อย่างจริงจังในช่วงเวลาเร็วๆนี้

สำหรับด้านกลยุทธ์การลงทุน ผมมีความเห็นว่าเซกเตอร์ที่น่าสนใจ น่าจะยังคงเป็น เซกเตอร์ด้านสินค้าบริโภคที่จำเป็น (Consumer Staples) และ เซกเตอร์ธนาคาร โดยยังมองว่าควรหลีกเลี่ยงเซกเตอร์เทคโนโลยีไปก่อนในช่วงนี้เหมือนเดิม

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

Comments