รู้จัก “ลิซ ทรัส” นายกฯหญิงอังกฤษ ท่านใหม่

บทความนี้ มารู้จักนายกรัฐมนตรีหญิงท่านใหม่ของอังกฤษ ริซ ทรัส พร้อมกับนโยบายเศรษฐกิจและการต่างประเทศของเธอกัน

713

สัปดาห์นี้ อังกฤษก็ได้นายกรัฐมนตรีหญิงท่านใหม่ ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในสมัยบอริส จอห์นสัน คือ ลิซ ทรัส  ตรงกับที่ผมได้คาดการณ์ไว้ในทันทีที่อดีตนายกฯ จอห์สันประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อ 2 เดือนก่อน

บทความนี้ จะขอพามารู้จักทรัสและนโยบายของเธอให้มากยิ่งขึ้น ดังนี้

หลายท่านอาจคิดว่าทรัสเป็นสมาชิกคนเก่าแก่ของพรรคอนุรักษ์นิยมมานานแล้ว ซึ่งไม่ได้เป็นเช่นนั้น ความจริงแล้ว เดิมทีทรัสเป็นสมาชิกของพรรคประชาธิปไตยเสรีหรือ Liberal Democrat มาก่อนหน้านี้ ก่อนจะเข้ามาร่วมกับพรรคอนุรักษ์นิยมเมื่อปี 2010 โดยเธอเพิ่งจะมีบทบาททางการเมืองแบบจริงจังในยุคของบอริส จอห์นสันนี้เอง

อีกหนึ่งความเข้าใจผิดของหลายท่าน คือ ไม่ได้อยู่ในค่ายที่โหวตให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปหรือ Brexit ในปี 2016 ตามแนวทางของบอริส จอห์นสัน  โดยภายหลังจากที่ประชาชนชาวอังกฤษโหวตเช่นนั้น เธอจึงเปลี่ยนท่าทีทางการเมืองในประเด็นดังกล่าวหลังจากหันมาจับขั้วทางการเมืองกับจอห์นสัน และเมื่อจอห์นสันชนะการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2019 เธอจึงได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการค้า และต่อมาในตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจนถึงปัจจุบัน

สำหรับด้านนโยบายเศรษฐกิจของทรัส ต้องถือว่าเธอมีมาร์กาเร็ต แธชเชอร์ อดีตผู้นำอังกฤษและพรรคอนุรักษ์นิยมเป็นต้นแบบ โดยเธอมาในแนวทางที่เรียกกันว่า “Supply Side” คือลดภาษีและกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อหวังให้เศรษฐกิจอังกฤษในอนาคตเติบโตมากกว่านี้ เพื่อจะเก็บภาษีให้ได้มากขึ้นจากฐานรายได้ภาษีของทุกภาคส่วนที่มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยในการหาเสียงกับสมาชิกพรรคที่ผ่านมา เธอชูนโยบายการลดภาษีมูลค่าเพิ่มจากอัตราร้อยละ 20 ในปัจจุบันให้ลดลงเหลือร้อยละ 15 มาตรการยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมว่าด้วยพลังงานสีเชียวต่อประชาชนชาวอังกฤษในช่วงนี้ที่ราคาพลังงานที่เก็บชาวอังกฤษสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ รวมถึงเพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันประเทศ มูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ เธอยังเตรียมยกเลิกมาตรการการขึ้นภาษีด้านสุขภาพและสังคมต่อประชาชน และการขึ้นภาษีนิติบุคคลที่ประกาศหาเสียงไปก่อนหน้าอย่างน้อยในระยะสั้นนี้ไปก่อน

ตรงนี้ ทำให้ทีมงานฝั่งริซิ ซูนัค ที่เป็นคู่ชิงดำในตำแหน่งผู้นำอังกฤษ ได้ตั้งคำถามต่อกระทรวงการคลังของอังกฤษว่า มาตรการเศรษฐกิจของทรัสหากพิจารณาในมุมความยั่งยืนด้านการคลัง จะสามารถทำได้ในทางปฏิบัติหรือไม่

นอกจากนี้ ทรัสยังอาจมีแผนที่จะแก้กฎหมายเกี่ยวกับพันธกิจของธนาคารกลางอังกฤษให้เน้นการรักษาเสถียรภาพด้านราคาให้มากขึ้น และให้รัฐบาลมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายของธนาคารกลางให้มากขึ้น รวมถึงเน้นให้ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษต้องรับผิดชอบอย่างชัดเจนต่อผลงานที่มีต่อเศรษฐกิจอังกฤษ จากผลงานการดำเนินการนโยบายการเงินของตนเองอีกด้วย พร้อมกันนี้ มีความเป็นไปได้อีกเช่นกันที่ทรัสจะนำงานของกระทรวงการคลังในบางส่วนให้มาอยู่ภายใต้การดูโดยตรงของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ

สำหรับด้านนโยบายต่างประเทศของทรัสนั้น ต้องถือได้ว่ามีความแข็งกร้าวกับจีนมากขึ้นกว่าจอห์นสันทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร ในขณะเดียวกัน ก็มีความสัมพันธ์ที่ดูห่างเหินจากสหรัฐมากกว่าจอห์นสัน โดยทรัสได้เคยตำหนิสหรัฐว่าอ่อนข้อหรือไม่จริงจังกับการช่วยเหลือทางการทหารต่อยูเครน นอกจากนี้เธอเองก็แสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อสหภาพยุโรปในประเด็นสนธิสัญญาการข้ามชายแดนของไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งท้ายสุดแล้ว ทรัสก็คงต้องแสดงท่าทีชัดเจนขึ้นว่าอังกฤษจะโอนเอียงไปทางฝากไหนของขั้วการเมืองโลก ซึ่งเท่าที่ดู น่าจะมีนโยบายที่แข็งกร้าวกับจีนเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี วาระเร่งด่วนที่สุดของทรัสคือมาตรการช่วยเหลือคนจนในอังกฤษ จากบิลค่าไฟฟ้าของชาวอังกฤษที่มีมูลค่าสูงขึ้นเป็นอย่างมากจนเกือบจะเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้ในกลุ่มคนอังกฤษที่มีรายได้น้อยไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการลดภาษี ตั้งอัตราค่าใช้จ่ายบิลค่าไฟสูงสุดต่อครัวเรือนให้ไม่เกินระดับหนึ่งๆสำหรับในช่วงหน้าหนาวที่จะมาถึง หรืออาจถึงขั้นต้องแจกคูปองในรูปแทนเงินสดไว้ใช้แทนการจ่ายค่าไฟฟ้าและค่าก๊าซให้กับประชาชนชาวอังกฤษที่มีรายได้น้อย

ด้านตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลทรัส ได้แก่ กระทรวงการคลัง มีตัวเต็งคือ ควาซิ ควาเทิง ที่ตอนนี้เลขาธิการดูแลด้านภาคธุรกิจของอังกฤษ ควาเทิงเป็นชาวอังกฤษที่มีเชื้อสายกาน่า ซึ่งถือเป็นคนสนิทของทรัส เคยร่วมเขียนนโยบายเศรษฐกิจกับทรัสเมื่อ 10  ปีก่อน โดยจัดเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เขามีความคิดที่ไม่เห็นด้วยกับลัทธิล่าอาณานิคมของอังกฤษในอดีต และสนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมแบบเต็มตัว

สำหรับตำแหน่งสำคัญอื่นๆในรัฐบาลทรัส ประกอบด้วย รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศนั้น ตัวเต็งได้แก่ เจมส์ เคลเวอร์รี ซึ่งขยับจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาในปัจจุบันและช่วยดูแลงานของทรัสมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ ซูอัลลา เบรฟเวอร์แมน จากอัยการสูงสุดในปัจจุบัน ซึ่งทั้งคู่ถือเป็นทีมงานและคนสนิทของทรัสในช่วงผ่านมา

ในภาพรวม  โดยทั่วไป ชาวอังกฤษไม่ได้ปลื้มกับทรัสมากเท่าไหร่นักเนื่องจากเธอไม่ได้เป็นนักการเมืองที่โดดเด่นสุดๆและมีข่าวอื้อฉาวมาบ้างในอดีต ซึ่งในการเลือกตั้งใหญ่ปีหน้า จะเป็นตัวชี้ขาดอนาคตของเธอในฐานะผู้นำประเทศบนเส้นทางการเมือง รวมถึงอนาคตของประเทศอังกฤษอีกด้วย

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

 

 

 

 

Comments