รัสเซียบุกยูเครน: เกมสั้นหรือยาว & ใครได้/เสีย?

อย่างที่ผมได้เขียนบทความ “รัสเซียบุกยูเครน : ความเสี่ยงใหญ่ที่ไม่เกินจริง”เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2021 ที่ผ่านมา มองว่า รัสเซียเตรียมบุกยูเครนในเร็ววัน ผ่านมา 10 สัปดาห์ มาประเมินว่าเมื่อบุกแล้ว เกมสั้นหรือยาว และ ใครได้/ใครเสีย?

1752

อย่างที่ผมได้เขียนบทความ “รัสเซียบุกยูเครน : ความเสี่ยงใหญ่ที่ไม่เกินจริง”เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2021 ที่ผ่านมา มองว่า รัสเซียเตรียมบุกยูเครนในเร็ววัน ผ่านมา 10 สัปดาห์ มาประเมินว่าเมื่อบุกแล้ว เกมสั้นหรือยาว และ ใครได้/ใครเสีย?

อย่างที่ผมได้เขียนบทความ “รัสเซียบุกยูเครน : ความเสี่ยงใหญ่ที่ไม่เกินจริง”เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2021 ที่ผ่านมาว่า รัสเซียเตรียมบุกยูเครนเพราะ วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย มองจากประวัติศาสตร์ในเวอร์ชั่นของเขาเองว่า ยูเครนควรจะเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ไม่ใช่ประเทศที่มีเอกราชเป็นของตนเอง

คำถาม คือ การที่รัสเซียกำลังบุกยูเครนในรอบนี้ จะกลายเป็นเกมแบบระยะสั้น ที่เน้นการยึด 2 เมืองด้านตะวันออก คือ ดอนเนทส์ และ ลูหานส์ ซึ่งปูตินเพิ่งประกาศอิสรภาพต่อดินแดนดังกล่าวและนำทหารเข้าไปยึดครอง โดยที่รัสเซียใช้สงครามตัวแทนมีอิทธิพลเหนือดินแดนแถบนี้มาเป็นเวลานับสิบปีแล้ว หรือจะเข้าสู่เกมแบบระยะยาว นั่นคือ บุกยึดไปถึงกรุงเคียฟ กันแน่? รวมถึงประเมินว่าใครได้และใครเสีย จากงานนี้

ผมมองว่า จากท่าทีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของทางการสหรัฐ ยุโรปและประเทศฝั่งประชาธิปไตยอื่นๆ ณ ตรงนี้ เหมือนมีแนวโน้มเหมือนว่าเกมของรัสเซียน่าจะออกมาในหน้าแบบจะเป็นเกมที่จบในปีนี้มากกว่า  โดยจุดเปลี่ยนของงานนี้ ณ เวลานี้ อยู่ตรงที่รัฐบาลเยอรมันประกาศยุติการเริ่มต้นใช้งานท่อก๊าซ Nordstream2 ระหว่างรัสเซียกับเยอรมัน หากรัสเซียยังคงบุกยึดดินแดนของยูเครนฝั่งตะวันออกอย่างเช่นในวันนี้ ซึ่งทำให้รายได้ของบริษัทน้ำมันของรัฐบาลรัสเซียมีรายได้หายไปหลายหมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี นอกจากที่สหรัฐและยุโรปได้คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในขณะนี้ ผ่าน 3 ช่องทาง ประกอบด้วย บุคคลชาวรัสเซียที่ทางการประกาศออกมาว่าจะปิดเส้นทางทางการเงิน ธนาคารรัฐสองแห่งประกอบด้วย Promsvyazbank และ VEB รวมถึงธุรกรรมทางการเงินต่างๆของรัฐบาลรัสเซีย

ทว่าคำตอบสุดท้ายของปูตินจะออกมาเป็นเช่นไรกันแน่ ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยต่อไปนี้

หนึ่ง ระดับราคาน้ำมันดิบในอนาคต หากเรามองย้อนรอยไปในช่วงที่รัสเซียบุกยึดไคร์เมียเมื่อเดือนมีนาคมปี 2014 จะพบว่าเศรษฐกิจรัสเซียเติบโตได้ช้าลงจนหดตัวในปี 2015 และเติบโตได้ช้าลงมากหลังจากนั้น ส่วนหลักมาจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างมากในช่วงนั้น โดยเศรษฐกิจรัสเซียพึ่งพารายได้กว่าร้อยละ 50 จากการส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซ

อย่างไรก็ดี ในรอบนี้ มีความแตกต่างจากครั้งก่อน ตรงที่ทางการรัสเซียมีมูลค่าเงินสำรองเงินตราระหว่างประเทศสูงถึง 6.4 แสนล้านดอลลาร์ ในขณะที่มูลค่าการนำเข้ามีเพียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งของมูลค่าเงินสำรองเงินตราระหว่างประเทศทั้งหมด นอกจากนี้ หนี้ต่างประเทศระยะสั้นของรัสเซียถือว่ามีอยู่ไม่มาก จึงทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจรัสเซียของการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตกในครั้งนี้ไม่แรงเหมือนครั้งก่อน จึงเป็นไปได้เหมือนกันว่าหากราคาน้ำมันยังสูงอยู่ ก็อาจทำให้ปูตินอยากจบเกมนี้แบบยาวๆไปที่ยึดกรุงเคียฟก็เป็นได้

ทว่าบริษัทน้ำมันของทางการรัสเซียก็ต้องเสียรายได้ไปไม่น้อยเช่นกันจากงานนี้ ที่สำคัญ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจรัสเซียที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ก็จะยังคงเติบโตค่อนข้างต่ำต่อไปอีก

สอง การอ่อนข้อจากพันธมิตรสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุโรปในการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย เนื่องจากการที่ชาติยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมัน ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน อย่างน้ำมันดิบและก๊าซจากรัสเซีย ทำให้การคว่ำบาตรต่อการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียส่งผลให้ต้องใช้พลังงานในราคาที่สูงขึ้น รวมถึงต้องใช้อย่างประหยัดขึ้น หรือกล่าวคือ หยิกเล็บเจ็บเนื้อ ตรงนี้ หากชาติยุโรปเกิดเปลี่ยนใจไม่ร่วมกับสหรัฐคว่ำบาตรรัสเซียในอนาคต ก็อาจทำให้ปูตินอยากจบเกมแบบยาวๆไปที่ยึดกรุงเคียฟก็เป็นได้

สาม ท่าทีของชาวยูเครนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเคียฟ หากชาวยูเครนยังคงเป็นเอกภาพในการต่อต้านการบุกยึดของรัสเซีย ก็อาจทำให้ปูตินไม่อยากเปิดเกมยาว เพราะยังต้องใช้เวลาในการจัดการกับชาวยูเครนอีกหลังบุกยึดครองยูเครน

สำหรับในมิติที่ว่าด้วย ใครได้ ใครเสีย จากงานนี้? คงต้องมาตั้งต้นการวิเคราะห์จากมูลเหตุจูงใจของงานนี้กันก่อน

เริ่มต้นจากที่ปูตินพยายามที่จะควบรวมเอายูเครนเข้ามาภายใต้การปกครองของรัสเซีย ซึ่งงานนี้ สหรัฐและยุโรปทำได้เพียงคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ซึ่งผลข้างเคียงของการคว่ำบาตรรอบนี้ ผู้ที่ได้รับผลเชิงลบทั้งราคาน้ำมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาก๊าซที่สูงขึ้น เห็นจะไม่พ้นจะเป็นชาติในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมัน นอกจากนี้ปริมาณการค้า การลงทุน และมูลค่าการแลกเปลี่ยนรายการด้านการเงินระหว่างกันที่ลดลง ก็เป็นยุโรปที่ได้รับผลกระทบอยู่ไม่น้อย ที่สำคัญ ผู้อพยพที่อาจเกิดขึ้นในบางส่วนก็ตกเป็นของยุโรปเช่นกัน

นอกจากนี้ ไต้หวันถือว่าเสียประโยชน์เช่นกัน เนื่องจากถือว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการที่มีกรณีตัวอย่างซึ่งมีความคล้ายคลึงกันได้เกิดขึ้นแล้วด้วยชาติที่มีผู้นำแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกต่างหาก

ด้านสหรัฐ ถือว่าไม่ได้ไม่เสีย โดยได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น ทว่าก็ได้รับผลดีในการสกัดรัสเซียจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติต่างๆในยุโรปไปกับเขาด้วย

ส่วนผู้ที่ได้ประโยชน์คือรัสเซีย เนื่องจากได้ดินแดนเพิ่มเติมเข้ามาเป็นของตนเอง ที่สำคัญ เป็นการขยายอำนาจ Soft Power ของผู้นำรัสเซียให้เทียบเคียงกับผู้นำสหรัฐ โดยที่ผู้นำของชาติในยุโรปต้องเดินทางเข้าหาเพื่อเจรจากับปูติน นอกจากนี้จีนก็ได้ประโยชน์จากการที่สามารถเข้าใกล้กับแนวคิดการรวมไต้หวันได้ง่ายกว่าเดิมในอนาคต

เอาไว้ในครั้งหน้า จะมาพิจารณาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ตลาดเงินและตลาดหุ้นทั่วโลกจากปฏิบัติการของรัสเซียต่อยูเครนในครั้งนี้

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

 

 

 

Comments