ถอดบทเรียน กรณี CS และ SVB Bank

ความเสี่ยงเชิงโมเดลธุรกิจ (Business Model Risk)  มีความสำคัญมากไม่แพ้ระบบการบริหารความเสี่ยงด้านการเงินที่ดี กรณี SVB Bank และ CS Bank นั้น ยังมีสาเหตุอื่นใดอีกบ้าง มาติดตามกันครับ

594

แนวทางการบริหารความเสี่ยงในช่วงก่อนวิกฤตซับไพร์ม มีจุดอ่อน 3 ประการ คือ

หนึ่ง สถาบันการเงิน มีทางเลี่ยงในการซ่อนสินทรัพย์ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากๆ ผ่านบัญชีนอกงบดุล หรือ Off-Balance Sheet เพื่อไม่ให้งบดุลดูเสี่ยงสูงจนเกินไป

สอง เมื่อสถาบันการเงินทราบว่ากฎระเบียบทางการเงินที่ใช้อยู่มุ่งพิจารณาความ เสี่ยงเฉพาะฝั่งสินทรัพย์ของงบดุลเป็นหลัก ก็หันไปเพิ่มความเสี่ยงที่ไม่ปรากฏในด้านสินทรัพย์ให้สูงขึ้น (เพื่อที่จะได้กำไรสูงขึ้น) โดยทำธุรกรรมการเงินที่เสี่ยงสูงผ่านฝั่งหนี้สินของงบดุล นั่นคือ ก่อหนี้ให้สูงๆ เพื่อแสวงหาแหล่งเงินที่มีต้นทุนที่ถูกที่สุด

และ ท้ายสุด สถาบันการเงินมีแรงจูงใจที่จะมุ่งหาประโยชน์จากจุดอ่อนทั้งสองประการข้างต้น เนื่องจากผลตอบแทนของผู้บริหารสถาบันการเงินจะสูงตามกำไรของสถาบันการเงินใน ช่วงเวลาที่พวกเขาดำรงตำแหน่งอยู่ แต่หากสถาบันการเงินขาดทุนแม้ในช่วงที่ผู้บริหารดำรงตำแหน่งอยู่ ก็ไม่มีบทลงโทษต่อผลขาดทุนที่พวกเขาก่อขึ้นให้กับบริษัท

โดยหลักการบาเซิล 2″ ที่เริ่มใช้ในปี 1999 ไม่สามารถที่จะแก้จุดอ่อนดังกล่าวได้ ทำให้หลักการบริหารความเสี่ยงจึงได้เดินมาถึงจุดที่เรียกว่าเมทริกซ์แห่งการบริหารความเสี่ยงโดยแบ่งการจัดการความเสี่ยงออกเป็น 2 มิติ ได้แก่ มิติแรก แยกตามงบดุลของสถาบันการเงินเป็นด้านสินทรัพย์และด้านหนี้สินและ มิติที่สอง แบ่งแยกสถาบันการเงินออกเป็นตัวสถาบันการเงินและผู้บริหารจากเดิมที่บาเซิล 2 เน้นการบริหารความเสี่ยงด้านสินทรัพย์ของตัวสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นจุดที่เห็นได้ชัดเจนจากภายนอก อย่างไรก็ดี กรอบดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการบริหารความเสี่ยงในโลกแห่งความเป็นจริง ทั้งปัญหา “Too Big to Fail” “Head Bank wins Tail Uncle Sam loses” และ “Overleverage”

โดยในปี 2010 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เสนอแนวคิด Financial Stability Contribution (FSC) และ Financial Activity Tax (FAT) โดยมาตรการ FSC จะทำการเก็บค่าธรรมเนียม (Levy) ด้วยอัตราที่มากน้อยตามขนาดของสถาบันการเงินโดยวัดจากปริมาณหนี้สิน (Liabilities) ที่ไม่ได้รับการค้ำประกันจากทางการ และระดับการก่อความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจของสถาบันการเงิน (Systemic risk) ส่วนมาตรการ FAT จะประเมินความเสี่ยงและเก็บค่าธรรมเนียมด้วยอัตรามากน้อยตามระดับความเสี่ยงของกิจกรรมทางการเงินที่สถาบันการเงินดำเนินอยู่

นอกจากนี้ หากค่าตอบแทนของผู้บริหาร ซึ่งมักจะเป็นสัดส่วนกับกำไรอยู่ในระดับสูง ก็จะเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวด้วยอัตราที่สูงด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นมาตรการแบบ Macro prudential ประเภทหนึ่ง เนื่องจากทำให้สามารถควบคุมระดับความเสี่ยงของสถาบันการเงินที่มีต่อระบบเศรษฐกิจได้จากมาตรการทางมหภาคของธนาคารกลาง ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมในส่วนมาตรการ FSC จะเก็บไว้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับสถาบันการเงินที่มีปัญหากรณีที่เกิดวิกฤติในอนาคต และในส่วนค่าธรรมเนียมจากมาตรการ FAT จะเก็บไว้เพื่อช่วยเหลือสถาบันการเงินที่มีปัญหาในอนาคตตามสัดส่วนของระดับ ความเสี่ยงจากกิจกรรมทางการเงินที่เคยก่อไว้ จนมาเป็นหลักการบาเซิล 3 ที่ใช้กันในปัจจุบัน

สำหรับบทเรียนของกรณี Credit Suisse หรือ CS ผมมองว่ามีอยู่ 2 ประการ ดังนี้

  1. สถานะ (Globally) Systemically Important Bank (G)SIB หรือ มีความสำคัญเชิงระบบ (ระดับโลก) ของแบงก์ มีความสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤต ดังที่เราได้เห็นว่าแม้ CS จะมีข่าวมากมาย อาทิ Greensil Fund กับ Archegos Fund ที่ถือว่าหนักหนามาหลายปี รวมถึงผลขาดทุนแบบ 2 ปีติดต่อกัน ทว่าการที่ CS มีสถานะเป็นแบงก์แบบ GSIB ดังนั้น อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ CAR และ อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อภาระหนี้สินระยะสั้น หรือ Liquidity Coverage (LCR) Ratio จึงยังคงดูดีอยู่แม้ในช่วงที่เกิดวิกฤตเนื่องจากผ่านการทำแบบทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) จึงสามารถยืนอยู่ได้ค่อนข้างนาน จนกระทั่งมีข่าวการไม่ขอขยายสัดส่วนของผู้ถือหุ้นรายหนึ่งที่กดดันต่อราคาหุ้น CS แบบสุดจริงๆจึงทำให้ทางการสวิสเซอร์แลนด์จึงขยับเข้ามาช่วยควบรวมกับอีกแบงก์ยักษ์ใหญ่ของสวิส

ตรงนี้ ถือว่าผิดกับ SVB Bank ที่แม้จะติดแบงก์ขนาดใหญ่แบบ Top20 โดยกฎหมายด้านการเงินของสหรัฐ ก็ยังไม่ได้จัดให้ SVB Bank เป็นแบงก์ SIB ทำให้การดำรงเงินกองทุนและสินทรัพย์สภาพคล่อง รวมถึงแนวทางการทดสอบภาวะวิกฤตดูอ่อนกว่าแบงก์ที่มีสถานะ SIB จึงทำให้ SVB Bank ล้มลงอย่างค่อนข้างรวดเร็วหลังจากผู้ฝากเงินมาถอนเงินออกจากแบงก์เพียงไม่กี่วันเท่านั้น

2. ผมมองว่าการที่หน่วยงานกำกับสถาบันการเงินของสวิสเซอร์แลนด์อย่าง FINMA ได้ตัดให้หุ้นกู้ Additional Tier-I หรือ  AT-1 ของ CS ให้เป็นศูนย์ โดยที่ราคาหุ้นสามัญของ CS ยังมีค่าประมาณร้อยละ 10 ของราคาหุ้นในช่วงก่อนเกิดวิกฤต ค่อนข้างหาคำอธิบายในทางเศรษฐกิจหรือการเงินได้ไม่ง่าย ประเด็นนี้ ผมมีความเห็นส่วนตัวว่าอาจจะมาจากการที่แนวคิด หุ้นกู้ Additinal Tier-I  มาจากหน่วยงาน BIS หลังเกิดวิกฤตซับไพร์ม โดยที่ไม่ใช่มาจากไอเดียของ Swiss National Bank ของสวิสเอง

สำหรับบทเรียนของกรณี SVB Bank ผมมองว่ามีอยู่ 2 ประการดังนี้

  1. ความเสี่ยงเชิงโมเดลธุรกิจ (Business Model Risk)  มีความสำคัญมากไม่แพ้ระบบการบริหารความเสี่ยงด้านการเงินที่ดี กรณี SVB Bank หรือแม้แต่ CS นั้นสาเหตุในสัดส่วนเกินครึ่งหนึ่งมาจากความเสี่ยงเชิงโมเดลธุรกิจ
  2. แนวทางที่เราใช้กันในการค้ำประกันเงินฝากแบบที่มีการค้ำไม่เกินค่าใดค่าหนึ่ง (One Size Fit-all for Insured Deposit) อาจไม่เหมาะกับแบงก์ที่มีความเฉพาะในแง่ของโปรไฟล์ลูกค้า อาทิ ในกรณี SVB Bank นั้น เป็นบรรดากองทุน Venture Capital (VC) ด้านเทคโนโลยีของสหรัฐ ที่ในตอนนี้ ธุรกิจด้านเทคโนโลยีของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์แนว Work from Home และด้านสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี ที่เริ่มจะไม่เฟื่องฟูเหมือนช่วงที่ผ่านมา จึงส่งผลให้นอกจากการนำเงินที่หามาได้จากการระดมเงินทุนแนว VC มาทำธุรกิจ ยังมุ่งเน้นหันมานำเงินไปลงทุนด้วยการฝากเงินและซื้อสินทรัพย์ทางการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้บรรดากองทุน VC เหล่านี้ ซึ่งมีอยู่ค่อนข้างเยอะที่เป็นลูกค้าของ SVB Bank จึงมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยเป็นพิเศษด้วยความเป็นลูกค้ารายใหญ่ หากใช้วงเงินค้ำประกันเงินฝากแบบที่มีการค้ำไม่เกินค่าใดค่าหนึ่ง ย่อมจะส่งผลให้เกิดความเสียหายมากอย่างที่เห็นกัน

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

Comments