อัลเบิร์ต เฮิรช์แมน: นักเศรษฐศาสตร์ดังแห่งซีรีส์ Netflix

ผมติดตามซีรีส์จากสตรีมมิ่งเป็นประจำ แล้วมาสะดุดกับซีรีส์ Netflix ที่ชื่อว่า Transatlantic เพราะมีตัวเอกของเรื่องเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ผมชื่นชอบมานานชื่อว่า อัลเบิร์ต เฮิรช์แมน

796

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า เดิมทีผมตั้งใจที่จะเขียนบทความเกี่ยวกับตลาดการเงินสหรัฐ เผอิญว่าผมติดตามซีรีส์จากสตรีมมิ่งเป็นประจำ แล้วมาสะดุดกับซีรีส์ Netflix ที่ชื่อว่า Transatlantic เพราะมีตัวเอกของเรื่องเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ผมชื่นชอบมานานชื่อว่า อัลเบิร์ต เฮิรช์แมน โดยเรื่องราวของซีรีส์เรื่องนี้ ได้ย้อนหลังไปในปี 1940 ที่เมืองมาร์เซย์ ในฝรั่งเศส ยุคที่รัฐบาลนาซีของเยอรมันไล่ติดตามคนสัญชาติยิวในยุโรป

โดยพระเอกของเราเป็นหนึ่งในทีมงานที่คอยช่วยโยกย้ายคนยิวในยุโรปให้ออกนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นปีที่ประธานาธิบดี แฟรงกิ้น ดี รูสเซอเวลท์ ชนะการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐเป็นวาระที่สามพอดิบพอดี และนั่นมีส่วนที่ทำให้สหรัฐร่วมเข้ากับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อต่อสู้กับฝั่งเยอรมันจนชนะสงครามโลกครั้งที่สองในเวลาต่อมา โดยว่ากันว่าเฮิรช์แมนเป็นคนที่หน้าตาดีและออกจะเนิร์ดๆแบบชอบแสดงอาการสงสัยในสิ่งที่เห็นอยู่เสมอ

หันกลับมาที่ อัลเบิร์ต เฮิรช์แมน นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมันที่จบการศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์ในยุโรป จากนั้นหันไปช่วยร่วมรบกับฝั่งเยอรมันที่สเปนในทศวรรษ 1930 จากนั้นในปี 1940 ก็มาที่ฝรั่งเศสเข้าร่วมหับองค์กรเพื่อช่วยโยกย้ายชาวยิวในยุโรปไปสหรัฐอเเมริกา จนในปี 1945 เข้าจึงโยกย้ายถิ่นฐานไปปักหลักที่สหรัฐอเมริกาเพื่อเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยชื่อดังด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนา จนเสียชีวิตในปี 2011

ในความเห็นของผม เฮิรช์แมนถือเป็นเจ้าพ่อด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนาในยุคก่อนแบบจำลองเศรษฐกิจจะได้รับเป็นที่นิยม ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเนื่องจากเขาเองเดินทางไปทั่วโลกและผ่านโลกมาทั้งในยุคสงครามและยุคที่เศรษฐกิจสมัยใหม่ รวมถึงเจอวิกฤตต่างๆมาเยอะมาก จึงสามารถมองโลกแบบที่ครบองค์รวมเพื่อประกอบเข้ากับองค์ความรู้เศรษฐศาสตร์ที่เขามีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งผมขอสรุปไว้ดังนี้

  1. อย่าเชื่อในการวางแผนต่างๆในหลักการเศรษฐศาสตร์การพัฒนา: โดยผมมองว่าเฮิรช์แมนน่าจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์เพียงคนเดียวในโลกที่เคยทำหน้าที่ต่อสู้ในสงครามจริงๆ รวมถึงการช่วยเหลือผู้อพยพในฝรั่งเศสจากรัฐบาลของนาซี  ก่อนที่จะมาทำหน้าที่เป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยฝั่งอเมริกา จึงทำให้เขาเรียนรู้จากทั้งโลกของวิชาการและโลกของยุคสงครามโลกครั้งที่สองในสมรภูมิจริง จนกระทั่งตัวเองเกิดตกผลึกในความคิดในวัยที่ยังถือว่าค่อนข้างหนุ่มคือประมาณ 40 กว่าปี ซึ่งน้อยคนจะมีประสบการณ์ต่อสู้กับนาซีแบบจริงจังเช่นเดียวกันกับเขา โดยการเอาตัวรอดครั้งแล้วครั้งเล่าจากทหารนาซีในฝรั่งเศส ได้สอนให้เขารู้ว่าวิชาเศรษฐศาสตร์ที่เขาเรียนรู้จากช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองนั้น

    แท้จริงแล้ว การวางแผนต่างๆสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจจากบนหอคอยงาช้าง  เมื่อเอาเข้าจริง มีสิ่งที่เกิดขึ้นจริงอยู่น้อยมาก โดยสิ่งสำคัญคือความคิดสร้างสรรค์ที่จำเป็นต้องคิดขึ้นมาเพื่อปรับใช้ในการแก้ปัญหาตามสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนไปแบบคาดไม่ถึงต่างหาก ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ

  2. ไม่มีทฤษฎี Hirschman เพราะเขาเองไม่กล้าพูดว่าตนเองสร้างทฤษฎีอะไรให้กับโลกนี้: โดยจากการที่เฮิรช์แมนเป็นนักวิชาการแนวอินดี้ที่เดินทางไปประเทศกำลังพัฒนาเกือบทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เพื่อให้คำแนะนำด้านเศรษฐศาสตร์แห่งการพัฒนา ทว่ามีสิ่งหนึ่งที่เขาบอกกับผู้อื่นอยู่เสมอ คือ ไม่มีทฤษฎีอะไรที่สามารถนำมาใช้ได้ในทุกสถานการณ์ เขาจึงไม่ยอมให้ใครนำความคิดของเขามาเรียบเรียงจนตั้งขึ้นมาเป็นทฤษฎี ดังนั้น แนวทางของเขาน่าจะคล้ายคลึงกับปรัชญาแนว Pragmatism หรือแนวเซนคือเน้นความว่างเปล่าว่าเป็นสัจธรรมแห่งโลกนี้
  3. เจ้าของ The Hiding Hand Principle: หลักการที่ว่าคนจะทำธุรกิจหรือโครงการที่มีความเสี่ยง โดยส่วนใหญ่มักจะประเมินความสามารถของตนเองในการที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าความเป็นจริง ทำให้เวลาลงมือทำธุรกิจจริงๆ มักจะเกิดปัญหาที่คาดไม่ถึง ทว่าด้วยความที่สถานการณ์บังคับตอนจวนตัวให้เอาตัวรอด จึงมักจะสามารถหาความคิดใหม่ๆแบบสร้างสรรค์มาแก้ปัญหาจนสำเร็จได้แบบที่ตนเองก็ไม่เชื่อว่าจะคิดได้มาก่อน หรือเหมือนมีมือที่ซ่อนอยู่มาคอยช่วยเหลือตนเอง นั่นเป็นที่มาของวลี The Hiding Hand Principle  อันลือลั่นของเฮิรช์แมน นั่นคือ คนมองโลกดีเกินไปก่อนลงมือทำ แต่สถานการณ์จะบังคับคุณเองให้แก้ไขปัญหาหน้างาน โดยความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของคนนั้นดีกว่าที่คนทั่วไปประเมินกัน

ทั้งนี้เฮิรช์แมนได้อธิบายว่าการที่นักวางแผนเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะไม่เห็นอุปสรรคและความท้าทายก่อนลงสนามลงมือทำจริงเนื่องจากมักจะใช้การวิเคราะห์โดยเลียนแบบเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันในอดีตหรือเทคนิคแบบ Pseudo-Imitation และทำการวิเคราะห์โดยมีกระบวนการและขั้นตอนการทำงานอย่างละเอียดจากสมมติฐานที่วางไว้จากการวิเคราะห์โดยเลียนแบบเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันในอดีต หรือ เทคนิคแบบ  pseudo-comprehensive-program ซึ่งเอาเข้าใจจริง เพียงจังหวะแรกของโลกแห่งความเป็นจริงก็ไม่เหมือนสิ่งที่ได้วิเคราะห์แบบละเอียดที่ทำเอาไว้แล้ว

บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ        

Comments