ฟังมุมมองกรรมการเฟด ผ่านเลคเชอร์ Econ

ฟังเลคเชอร์ด้านเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นจากคริส วาลเลอร์ สมาชิกของคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ซึ่งต้องบอกว่าสามารถบอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับมุมมองของเฟดได้

534

ผมเป็นหนึ่งคนที่ชอบเขียนและทำงานด้านการลงทุนและเศรษฐกิจมากกว่าสอนเนื้อหาเหล่านี้ ในทางกลับกัน ผมกลับชอบฟังเลคเชอร์ด้านการลงทุนและเศรษฐศาสตร์มากกว่าฟังกลยุทธ์การลงทุนและมุมมองเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ความจริงแล้ว บทความนี้ เดิมทีจะเขียนถึงแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่ค่อนข้างใหม่ซึ่งผมเพิ่งไปฟังมาจากต่างประเทศ แต่เผอิญว่าล่าสุด ได้ฟังเลคเชอร์ด้านเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นจากคริส วาลเลอร์ สมาชิกของคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ซึ่งต้องบอกว่าสามารถบอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับมุมมองของเฟดได้อยู่ไม่น้อย

วาลเลอร์เริ่มต้นด้วยการแสดงให้เห็นถึงภาพอัตราการเติบโตของ Real GDP สหรัฐ ตั้งแต่ปี 2000 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งนอกจากช่วงวิกฤตซับไพร์มในปี 2008 ซึ่งอัตราการเติบโตจีดีพีที่แท้จริงรายไตรมาสสหรัฐลดลงไปสูงสุดราว 8% ก็มีช่วงวิกฤตโควิดที่ลดลงไปกว่า 3% ซึ่งถือว่าลดลงแรงมากแบบที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จากนั้นก็ได้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มอัตราการเติบโตที่แท้จริงสหรัฐรายไตรมาส ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยแยกตามองค์ประกอบจีดีพี อาทิ การบริโภคในประเทศ การลงทุนภาคเอกชนในประเทศ การใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออกสุทธิ ซึ่งเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัวแบบขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพตั้งแต่ช่วงกลางปี 2022 โดยสามารถเติบโตได้เฉลี่ยราวร้อยละ 2 จากนั้น ก็พุ่งขึ้นมาเป็นร้อยละ 4.9 ในไตรมาส 3 ปี 2023 ซึ่งตรงนี้ วาลเลอร์ให้น้ำหนักว่าอาจจะทำให้การเกิด recession ที่คาดไว้จากปรากฏการณ์ Inverted Yield Curve อาจจะไม่น่าเกิดขึ้น

จากนั้นได้แสดงถึงตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรหรือ Nonfarm Payroll สหรัฐที่ในขณะนี้ ได้ลดลงมาอยู่ในบริเวณค่าเฉลี่ย 20 ปีมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2023 ซึ่งตรงนี้ น่าจะทำให้มองได้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐแม้จะยังไม่ถึงกับอ่อนแรงลงมากนัก ทว่าก็ไม่ได้อยู่ในช่วงที่ร้อนแรงอีกต่อไป อย่างน้อยผ่านตัวเลขราว 7-8 เดือนนี้ ที่สำคัญอัตราส่วนระหว่างตำแหน่งงานว่างต่อผู้ว่างงานได้ลดลงจากช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาซึ่งอยู่ในระดับ 1.8 เท่า มาสู่ระดับประมาณ 1.4 เท่าในขณะนี้ ยิ่งทำให้เห็นว่าตลาดแรงงานสหรัฐ อย่างน้อย ณ ตอนนี้ ไม่ได้แสดงถึงการพุ่งขึ้นของส่วนเกินของอุปสงค์แรงงานจากอุปทานแรงงานมากเกินไปจนอาจก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้ออย่างจริงจัง นอกจากนี้ ปรากฏการณ์แรงงานที่หายไปจากตลาดในช่วงโควิดเริ่มจะมีให้เห็นน้อยลง โดยอัตราส่วนการเข้าร่วมตลาดแรงงานสหรัฐที่ลดลงมาจนแตะระดับ 60% เริ่มที่จะไต่ขึ้นมาที่ระดับช่วงก่อนโควิดที่ 63% ยิ่งทำให้มองได้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐอาจจะกลับเข้ามาสู่ในสภาพใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดเข้ามาทุกที

จากนั้นวาลเลอร์ก็พาเข้ามาหาภาพของตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐ ซึ่งเฟดมองว่าสะท้อนความเป็นไปของเศรษฐกิจสหรัฐมากกว่า ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอัตราเงินเฟ้อสหรัฐ PCE ได้ขึ้นมาสู่จุดสูงสุดที่ราว 7% ในราวไตรมาสแรกของปี 2022 และได้ลดลงมาเป็นลำดับ โดยที่ ณ ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อ PCE อยู่ที่ 3%กลางๆ ส่วนเงินเฟ้อ Core PCE หรือ PCE ที่ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน อยู่ที่ 3% ปลายๆ นั้น วาลเลอร์มองว่าถือว่าลดลงมาค่อนข้างดี แต่จะลดลงต่อจากนี้น่าจะมีความยากลำบากขึ้น โดยแสดงการแยกเงินเฟ้อ PCE ออกเป็นส่วนของสินค้า และ ส่วนบริการ โดยที่จากเดิมในช่วงก่อนโควิด อัตราเงินเฟ้อจากส่วนสินค้าลดต่ำลงมาเรื่อยๆจนมาแตะระดับที่ติดลบ ทว่าในช่วงโควิด ได้พุ่งขึ้นมาอย่างรวดเร็วจากปรากฏการณ์ภาวะอุปทานติดขัด โดยหลังจากที่ปรากฏการณ์นี้ยุติลง อัตราเงินเฟ้อจากสินค้าก็ลดลงมาอย่างรวดเร็ว จนในตอนนี้กลับมาแตะในระดับที่ติดลบอีกครั้ง ซึ่งสวนทางกับอัตราเงินเฟ้อจากภาคบริการที่ในช่วงก่อนโควิดมีเสถียรภาพสูง โดยอยู่ที่ระดับประมาณ 2-2.5% จนช่วงที่โควิดเริ่มดีขึ้นในช่วงปลายปี 2021 เงินเฟ้อส่วนนี้จึงค่อยๆพุ่งขึ้นมาจนล่าสุดอยู่ที่ระดับราว 5% ทว่าล่าสุดก็มีแนวโน้มที่ลดลงเล็กน้อย

จากนั้น ได้แสดงให้เห็นภาพอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐ ซึ่งพุ่งขึ้นราว 1% ในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม 2023 โดยหลังการประชุมเฟดในวันที่ 1 พฤศจิกายน ก็ได้ลดลงมาราว 0.4% ซึ่งตรงนี้ ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในมุมของเฟด โดยมองว่าอาจจะสามารถแทนการขึ้นดอกเบี้ยได้ในบางส่วนก็เป็นได้

ท้ายสุด วาลเลอร์ดูจะเบาใจว่าปรากฏการณ์ Inverted Yield Curve ที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐ 10 ปีต่ำกว่า 2 ปี อาจจะเป็นเพราะคนมั่นใจว่าเฟดจะสามารถดึงเงินเฟ้อลงมาได้ จึงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อระยะยาวต่ำกว่าระยะสั้น จนเกิดปรากฏการณ์นี้ก็เป็นได้

หากฟังภาพรวมทั้งหมด ผมมองว่าประเด็นสภาพตลาดแรงงานในช็อตถัดไป น่าจะเป็นจุดที่เฟดให้ความสำคัญในการพิจารณาว่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่ออีกหรือไม่สำหรับในรอบนี้

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

Comments