โอกาสการลงทุนต่างๆ ท้ายปี 2021

บทความนี้จะขอพิจารณาภาพรวมของเศรษฐกิจทั่วโลก เพื่อส่องหาโอกาสในการลงทุนต่างๆ ที่กำลังน่าจะเกิดขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ว่ามีอะไรกันบ้าง

1524

บทความนี้จะขอพิจารณาภาพรวมของเศรษฐกิจทั่วโลก เพื่อส่องหาโอกาสในการลงทุนต่างๆ ที่กำลังน่าจะเกิดขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ว่ามีอะไรกันบ้าง

1.กฎหมายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐ หรือที่เรียกกันว่า Infrastructure Bill (Infra Bill) ของรัฐบาลสหรัฐ ภายใต้ผู้นำ โจ ไบเดน โดยคาดกันว่า ส่วนที่เน้นการสร้างโครงการการก่อสร้างด้านต่างๆมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ น่าจะสามารถผ่านสภาคองเกรสได้ภายใน เดือนตุลาคมนี้

ก่อนอื่น ต้องบอกก่อนว่า Infra Bill แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่เน้นการสร้างโครงการการก่อสร้างด้านต่างๆ 1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นร่างกฎหมายฉบับที่เสนอร่วมกันระหว่างพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน ในส่วนนี้ได้ผ่านการโหวตของสภาสูงไปเรียบร้อยเมื่อสัปดาห์ก่อน และกำลังรอผ่านการโหวตจากสภาผู้แทนราษฎรในเดือน ต.ค.นี้

ส่วนที่สองที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการของประชาชนชาวสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาส มูลค่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเสนอร่างกฎหมายนี้เข้าสภาโดยพรรคเดโมแครต คาดว่าจะเริ่มผ่านกระบวนการโหวตของสภาสูง ในช่วงปลายเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งน่าจะมีความยากที่จะผ่านสภามากกว่าฉบับแรก เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายฉบับของพรรคเดโมแครตเอง

รายละเอียดของ Infra Bill  มูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์นั้น ประกอบด้วยโครงการถนนหนทาง สะพานและโปรเจ็คใหญ่ๆ มูลค่า 1.1 แสนล้านดอลลาร์ โครงการคมนาคมสาธารณะ อาทิ รถบัส รถไฟ และทางรถไฟต่างๆ ในระยะเวลา 5 ปีต่อไป โครงการรถไฟขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร มูลค่า 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์ โครงการด้านน้ำดื่มสะอาดมูลค่า 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมูลค่า 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์

จากการวิเคราะห์ของทางการสหรัฐ พบว่าโครงการทั้งสองส่วน จะทำให้งบภาครัฐขาดดุลเพิ่มขึ้นมูลค่า 2.56 แสนล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 10 ปีถัดไป

2.หันมาพิจารณาทางฝั่งยุโรป ยังมีมาริโอ ดรากิ นายกรัฐมนตรีอิตาลี ที่คอยเป็นตัวช่วยให้กับเศรษฐกิจยุโรปผ่านการกระตุ้นด้วยเม็ดเงินขนาดมหาศาลของนโยบายการคลัง จากสหภาพยุโรปสู่เศรษฐกิจอิตาลี อีกทั้งยังเป็นตัวช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงิน จากการที่เขาสามารถทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาที่ดี ในฐานะอดีตประธานธนาคารกลางยุโรปที่ตัวเขาเองทำหน้าที่ได้ค่อนข้างดี

3.เศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อยุโรปที่ดูแล้ว มีโอกาสที่จะเป็นไปในทิศทาง ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ณ ตอนนี้ น่าจะทำให้ธนาคารกลางยุโรปสามารถ เข้าสู่เฟสการผ่อนคลายนโยบายการเงินแบบไร้แรงกดดัน โดยน่าจะสามารถทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจยุโรปเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เรื่อยๆเป็นลำดับอย่างรวดเร็วกว่าช่วงที่แล้ว

4.เจย์ พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งจะครบวาระในตำแหน่งนี้ ในช่วงต้นปีหน้า มีโอกาสสูงที่จะสามารถดำรงตำแหน่งนี้ในวาระที่สองต่อไปอีก ซึ่งตรงนี้ น่าจะทำให้ตัวช่วยของการลงทุนของตลาดหุ้นยังอยู่กับเราต่อไปอีก 4 ปี

5.การเลือกตั้งใหญ่ในการเลือกผู้นำเยอรมนีในเดือน ก.ย.นี้ น่าจะมีโอกาสสูงที่พรรค CDU ของแองเจลล่า แมร์เคิล จะสามารถคว้าคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ผู้นำพรรคท่านใหม่อย่าง อามิน ลาเช็ตต์ จะสามารถสานต่อการเป็นผู้นำเยอรมนีต่อจากแมร์เคิล โดยนโยบายต่างๆ ของเขาดูแล้วยังมีความใกล้เคียงกับที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ซึ่งน่าจะทำให้บรรยากาศด้านการเมืองของยุโรปยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงเวลา 16 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การนำของแมร์เคิล

6.ในส่วนของตลาดเกิดใหม่นั้น “เศรษฐกิจอินเดีย” ดูแล้วน่าจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันและค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นมาในช่วงนี้ค่อนข้างน้อยกว่าเพื่อน อย่างไรก็ดี อินเดียเองยังมีความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่จะค่อยๆ สูงขึ้น รวมถึงความเสี่ยงด้านการเมืองจากนโยบายของนาเรนดรา โมดิ ต่อชาวมุสลิมของอินเดียในบางส่วน

7.ด้านละตินอเมริกา แม้ว่ายังคงได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ที่สูงขึ้น อันเป็นผลพวงมาจาก Supply Disruption ตรงนี้ จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อของประเทศในละตินอเมริกาให้สูงขึ้น อุปสงค์ของภูมิภาคดังกล่าวก็จะสูงขึ้นบ้างด้วย จากโควิดที่น่าจะ ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในหลายประเทศ ซึ่งน่าจะส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้นจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้

จึงเห็นได้ว่า ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟได้ทบทวนอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของบราซิลให้สูงขึ้นกว่าเมื่อ 3 เดือนก่อน ค่อนข้างมากกว่าประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งข่าวดี นั่นคือ ภูมิภาคนี้ น่าจะได้รับผลกระทบจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าไม่มากเหมือนยุคทศวรรษ 1980 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นของประเทศเหล่านี้จากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมาอย่างค่อนข้างรวดเร็ว

ท้ายสุด การเปิดประเทศของอังกฤษหลังจากโควิด แม้ว่าจะมีโควิดเดลต้าเกิดขึ้นมาก็ตามที น่าจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้นค่อนข้างเร็ว นั่นจะเป็นตัวกดดันให้ธนาคารกลางอังกฤษชะลอการผ่อนคลายนโยบายการเงิน และมีโอกาสที่จะส่งผลทำให้ค่าเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงเวลาต่อจากนี้

ที่มาภาพ: Pictet

Comments