รัสเซียบุกยูเครน: ความเสี่ยงใหญ่ที่ไม่เกินจริง

บทความนี้ จะขอตอบคำถามว่า ทำไมรัสเซียถึงต้องการบุกยูเครนในช่วงเวลานี้ ที่โควิดสายพันธุ์ใหม่กำลังเริ่มจะแพร่กระจาย? และ อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ หากวลาดิเมียร์ ปูติน ตัดสินใจใช้กำลังทหารยึดยูเครนขึ้นมาจริงๆ

1532

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสโควิดโอไมครอน มีข่าวที่หลายฝ่ายคาดไม่ถึง คือการประกาศจัดประชุมการเจรจาสุดยอดของ 2 ผู้นำโลก ระหว่าง โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ และ วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ผ่านทางวิดีโอคอล ในวันอังคารที่ 7 ธันวาคมนี้ ว่าด้วยประเด็นที่รัสเซียมีโอกาสสูงที่จะใช้กำลังทหารยึดประเทศยูเครน โดยจะว่าไปความเป็นไปได้ที่ทั้งคู่จะสามารถบรรลุข้อตกลงกันแบบง่ายๆ ถือว่าค่อนข้างต่ำ เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างไบเดนกับปูติน ในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่ดีเอาเสียเลย โดยถือว่าน่าจะถึงขั้นที่เรียกว่าไม่ชอบหน้ากันเลยทีเดียว

ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จากภาพถ่ายจากทางอากาศของหน่วยข่าวกรองสหรัฐ แสดงถึงความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลรัสเซียได้ส่งทหารเข้าไปบริเวณชายแดนยูเครน 175,000 นาย กระจายในพื้นที่หลักของยูเครน รวมถึงมีการเคลื่อนอาวุธและกำลังพล แสดงถึงความเสี่ยงที่สูงขึ้นมากสำหรับการบุกยูเครนของรัสเซีย

ทั้งนี้ เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีการจัดประชุมระหว่าง แอนโธนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐ กับ เซอร์จีย์ ราลอฟ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของรัสเซีย ที่สวีเดน ในการหารือสำหรับประเด็นความเสี่ยงดังกล่าว ทว่าไม่สามารถมีข้อสรุปใดๆที่เป็นชิ้นเป็นอันออกมาแต่อย่างใด

คำถามที่หลายคนสงสัยคือ ทำไมรัสเซียถึงต้องการบุกยูเครนในช่วงเวลานี้ ที่โควิดสายพันธุ์ใหม่กำลังเริ่มจะแพร่กระจาย? และ อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ หากวลาดิเมียร์ ปูติน ตัดสินใจใช้กำลังทหารยึดยูเครนขึ้นมาจริงๆ

ขอเริ่มจากคำถามแรกก่อน ก่อนอื่นต้องย้อนกลับไปถึงอดีตที่ผ่านมา ถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับยูเครนว่าเป็นไปในรูปแบบใดบ้าง

ก่อนปี 1991 ยูเครนถือเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ก่อนที่จะประกาศอิสรภาพออกมาเป็นประเทศที่มีเอกราชเป็นของตนเอง อย่างไรก็ดี ทางรัสเซียในช่วงเวลาดังกล่าว ก็ไม่ยอมรับการประกาศอิสรภาพของยูเครนแบบเต็มใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชายแดนของยูเครนที่ติดกับภาคตะวันตกของรัสเซีย จนต้องเกิดการเซ็นสนธิสัญญามินสก์ โดยมีเยอรมันและฝรั่งเศสร่วมเป็นเจ้าภาพใน ปี 2014 และ สนธิสัญญามินสก์ 2 ในปี 2015 เพื่อยุติขอขัดแย้งดังกล่าว อย่างไรก็ดี ทางรัสเซียก็ได้กล่าวหาทางยูเครนว่าไม่ได้ทำตามเงื่อนไขในสนธิสัญญาดังกล่าว ซึ่งอาจจะใช้เป็นเงื่อนไขในการบุกยึดยูเครน ดังที่เป็นข่าวในตอนนี้

นอกจากนี้ ในความคิดของชาวรัสเซียโดยทั่วไป ก็มองยูเครนว่า แท้จริงแล้ว ควรเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย เนื่องจากที่ผ่านมา ได้ใช้ทรัพยากรของรัสเซียนำไปพัฒนาโครงการต่างๆ จนกระทั่ง ณ ตอนนี้ หลายพื้นที่มีความเจริญมากกว่ารัสเซียเองเสียอีก จึงทำให้การประกาศอิสรภาพเมื่อ 30 ปีก่อน ถือเป็นสิ่งที่ชาวรัสเซียหลายภาคส่วนยังคงติดใจอยู่ลึกๆ

โดยหากพิจารณาในมิติของภูมิศาสตร์ ยูเครนถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของรัสเซีย เนื่องจากถือเป็นจุดที่จะเปิดประตูไปสู่ยุโรป ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางบก ทางอากาศ หรือท่อก๊าซ รวมถึง ยังเป็นบริเวณที่จะออกไปสู่ทะเลดำที่กว้างขวางมาก ในการลำเลียงน้ำมันดิบออกไปสู่ทั่วโลก ดังนั้น หากพิจารณาในแง่ของผลประโยชน์ จึงไม่แปลกที่จะรัสเซียอยากจะขยายอาณาเขตของตนเองเข้าสู่ยูเครน

แล้วเพราะเหตุใดถึงต้องเป็นช่วงเวลานี้ด้วย? คำตอบคือบรรยากาศทางการเมืองในประเทศยูเครน ณ ตอนนี้ ความนิยมของรัฐบาล ภายใต้การนำของวลาดิเมียร์ เซเลนสกี้ ถือว่าตกต่ำสุดขีด ซึ่งจะทำให้การจัดการสถานการณ์หลังการยึดยูเครนของรัสเซีย น่าจะทำได้ไม่ยาก และที่สำคัญ จะทำให้ความนิยมต่อชาวรัสเซียของปูตินเองสูงขึ้นตามไปด้วย

หลายคนยังมองว่าการที่ปูตินอยากจะปิดเกมนี้ให้เร็วขึ้น เนื่องจากล่าสุด ทางรัฐบาลเยอรมันได้ตัดสินใจเลื่อนการปิดดีลท่อก๊าซ Nordstream-2 ซึ่งถือเป็นโครงการที่จะส่งก๊าซจากรัสเซียไปเยอรมัน โดยไม่ผ่านพื้นที่ของยูเครน ทำให้รัสเซียมองว่าการยึดยูเครนในครั้งนี้ ทำให้ไม่ต้องมาพึ่งพาโครงการนี้แบบจริงจัง เนื่องจากจะได้เป็นเจ้าของท่อก๊าซในยูเครนโดยตรง

แล้วหากรัสเซียยึดยูเครนขึ้นมาจริงๆ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง? หากพิจารณาจากการยึดไคร์เมียเมื่อปี 2014 จะพบว่ากลุ่มประเทศตะวันตกทั้งสหรัฐและยุโรป ต่างพากันคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจทั้งต่อรัฐบาลรัสเซียและภาคเอกชนของรัสเซีย ซึ่งในช่วงปี 2015 รัฐบาลรัสเซียต้องทนกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของตนเองจากการคว่ำบาตรดังกล่าว รวมถึงการที่ราคาน้ำมันดิบซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของรัสเซียตกต่ำสุดๆ ด้วยการนำเงินสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่มีอยู่ค่อนข้างเยอะในช่วงนั้นออกมาขาย

ซึ่งในครั้งนี้ ก็ยังมีแนวโน้มว่าจะเกิดการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตะวันตกต่อรัสเซียอีก หากมีการบุกยึดยูเครนจริงๆ อย่างไรก็ดี ณ ตอนนี้ รัสเซียเองมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของกลุ่มประเทศส่งออกน้ำมันอย่างโอเปกมากกว่าเมื่อ 7 ปีก่อน  คาดว่ารัสเซียน่าจะสามารถทนทานการคว่ำบาตรดังกล่าวได้มากกว่าครั้งที่แล้ว

สำหรับผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดต่างๆนั้น หลังจากรัสเซียยึดไคร์เมียเมื่อเดือนมีนาคม 2014 พบว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในช่วงนั้นตกต่ำลงมาก โดยหลังจากนั้น 1 ปี ราคาน้ำมันดิบ WTI ลดลงร้อยละ 52 ส่วนด้านตลาดหุ้นทั้งในสหรัฐและยุโรป ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวมากเท่าไหร่ เนื่องจากการส่งออกสินค้าของทั้งคู่ที่มีต่อรัสเซียไม่ได้มีมูลค่ามากมายนัก โดยหลังจากนั้น 1 ปี ดัชนีหุ้นสหรัฐและยุโรปขึ้นมาร้อยละ 17 และ ร้อยละ 10 ตามลำดับ

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

เครดิตภาพ: BBC & Foxnews

 

 

 

 

 

Comments