Macro Moment 2018 ฉบับธนาคารกลาง

2684

Macro Moment 2018 (EventzToday)

เป็นธรรมเนียมของคอลัมน์ที่ทุกช่วงสิ้นปี จะมีการออก Macro Moment ว่าด้วยการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจในปีหน้า สำหรับเวอร์ชั่นปี 2018 เป็นดังนี้

Moment แรก คือ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐในปีหน้า จะไม่เป็นไปตามที่เฟดคาดในช่วงนี้ เนื่องจากเรามองว่าตลาดหุ้นสหรัฐจะมีการ correction ครั้งที่ไม่เล็กในปีหน้า จนทำให้ความเชื่อมั่น และการใช้จ่าย ของชาวอเมริกันลดลง

อัตราการเติบโตของจีดีพีสหรัฐจะชะลอตัวลง ส่งผลให้เฟดไม่สามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ 3 ครั้งตามที่คาดการณ์ไว้

ที่สำคัญ คณะกรรมการเฟดชุดปี 2018 ภายใต้การนำของนายเจอโรม พาวเวลล์ มีความเป็น Dovish มากกว่าคณะกรรมการเฟดชุดปี 2017 จึงขอฟันธงว่า เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้เพียง ครั้งเท่านั้น หรืออาจจะขึ้นได้เพียงครั้งเดียวด้วยซ้ำไปในความเห็นของผม

นอกจากนี้ การตอบโต้กันทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนและประเทศคู่ค้าอื่นๆ จะรุนแรงขึ้นกว่าในปีนี้

Moment ที่ 2 คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจของยุโรปในปี 2018 จะออกมาดีกว่าคาด ส่วน อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่ไม่ถึง 2% ตามเป้าหมาย

สำหรับทางด้านของนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป เราคาดว่า มาตรการซื้อสินทรัพย์ (Asset Purchase Program) จะยืดอายุออกไปจากเดือนก.ย.2018 ที่จะสิ้นสุดลงตามสัญญาณของประธานธนาคารกลางยุโรป ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่น่าจะต่ำกว่าคาด รวมถึงBrexit ที่ยังเจรจาไม่เสร็จสิ้น

ที่สำคัญ นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป จะถือโอกาสที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า กระตุ้นเศรษฐกิจยุโรปโดยใช้ค่าเงินยูโรอ่อนค่า เพื่อช่วยเศรษฐกิจยุโรป และอัตราเงินเฟ้อให้ขยับขึ้นมาได้ไม่ยาก อย่างที่เคยกล่าวไว้ว่านายดรากิ เป็นคนที่เหมือนสุมาอี้ที่กินข้าวคนสุดท้ายในโต๊ะ Last Man Standing เสมอ

Moment ที่ 3 คือ เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังยืนอยู่ในระดับเดิมที่จีดีพีเติบโตราว 1.5% และอัตราเงินเฟ้อไม่ถึง 1.2% ในปี 2018 โดยที่ผู้ว่าการธนาคารธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงิน การควบคุมเส้นโค้งอัตราดอกเบี้ย(Yield curve control) ต่ออย่างน้อยอีกหนึ่งปี รวมถึงมีโอกาสสูงมากที่นายฮิโรฮิโกะ คุโรดะ จะได้ต่ออายุตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นไปอีกหนึ่งสมัย

 สิ่งที่ตลาดอาจคาดไม่ถึงคือการกระตุ้นรอบใหม่ของรัฐบาลญี่ปุ่นที่นอกเหนือจากลูกศร ดอก ภายใต้Abenomics รวมถึงมีการกระตุ้นชุดใหม่ของแบงก์ชาติญี่ปุ่น

Moment ที่ 4 คือ ผมมองว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะชะลอตัวลงในปี 2018 เนื่องรัฐบาลภายใต้ผู้นำ สี จิ้น ผิง จะไม่เน้นการเติบโตโดยเน้นในแง่ปริมาณเป้าหมาย ทว่าจะเน้นการเติบโตเชิงคุณภาพนั่นคือเน้นการกระจายรายได้ให้ประชาชนอย่างทั่วถึงมากกว่าเป้าหมายการเติบโตของจีดีพี

เศรษฐกิจจะพัฒนาไปในรูปแบบของ Supply-Side หรือเน้นฝั่งอุปทานให้เยอะไว้ก่อน นั่นหมายถึงใช้ระดับผลิตภาพ นวัตกรรม และการลดขนาดของกำลังการผลิตที่เกิน หรือ excess capacity รวมถึงการขยับขึ้นมาของห่วงโซ่อุปทานหรือ Value Chain ในภาคอุตสาหกรรมและบริหาร เพื่อใช้จิ๊กซอว์ของการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงต่อไป ทำให้คิดถึงสมัย 30 กว่าปีก่อน ยุคโรนัลด์ เรแกน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ที่เรียกใช้ เจมส์ โทบิน นักเศรษฐศาสตร์สาย Supply Side ทำนโยบายแบบเดียวกันที่เรียกกันติดปากว่า Trickle Down Economy 

ท่านสียังพยายามลดความสำคัญของฝั่งอุปสงค์ที่มักจะมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจสมัยใหม่ 

Moment สุดท้าย คือนาย มาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปตลอดปี2018 หรืออาจจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยซ้ำหากจำเป็น

นายคาร์นีย์มองว่าสาเหตุของเศรษฐกิฐอังกฤษที่ยังไม่สดใสมากพอที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อ มีอยู่ 2 ประการ ได้แก่ ประการแรก ความเชื่อมั่นที่หดหายของผู้บริโภคในการจับจ่าย ต้องยอมรับว่าขวัญของชาวอังกฤษยังไม่กลับมาให้มีความภูมิใจในความเป็นสายเลือดอังกฤษจนกล้าจับจ่ายใช้สอยอีกครั้ง แม้แต่ภาคธุรกิจของอังกฤษเองก็ยังพึ่งพาขาขึ้นของเศรษฐกิจนอกประเทศและค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลงสำหรับขับเคลื่อนการส่งออก มากกว่าพึ่งพาการลงทุนของภาคธุรกิจในประเทศ

และ ประการที่ 2 ระดับค่าจ้างยังไม่กระเตื้องขึ้น แม้การจ้างงานจะเติบโตได้ดีเนื่องจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.ระดับผลิตภาพหรือ Productivity ของอังกฤษที่ยังไม่อยู่ในแนวโน้มขาขึ้น 2. การที่นายจ้างไม่กล้าขึ้นค่าจ้างจากความไม่แน่นอนของผลกระทบจากกระบวน Brexit ที่ยังไม่มีความชัดเจน และ 3. นายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษเองก็ยอมรับดื้อๆ ว่าไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร

ไว้สิ้นปีหน้า มาดูกันว่า Macro moment 2018 นี้จะถูกต้องสักกี่ข้อครับ

Comments