โนเบลเศรษฐศาสตร์ 2022: คุณค่าที่ ’เบอร์นันเก้’ คู่ควร

บทความนี้ มาเจาะเบื้องหลังของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2022 ว่าเหมาะสมกับเบน เบอร์นันเก้ หรือไม่กัน

627

บทความนี้ มาเจาะเบื้องหลังของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2022 ว่าเหมาะสมกับเบน เบอร์นันเก้ หรือไม่กัน

ในสัปดาห์นี้  ได้มีการประกาศรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2022 ปรากฏว่าผู้ได้รับรางวัล ได้แก่ เบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ ดัคกลาส ไดมอนด์ นักเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยชิคาโกและ ฟิลลิป ดีปวิก นักเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ด้วยผลงานวิจัยที่เน้นถึงความสำคัญของกลไกและบทบาทของสถาบันการเงินที่มีต่อการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ บทความนี้ จะขอแชร์มุมมองต่อเบื้องหลังความสำเร็จของนักเศรษฐศาสตร์ทั้งสามท่าน ดังนี้

เริ่มจากเบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ ความน่าสนใจของเบอร์นันเก้ ที่ทำให้เขาดูพิเศษกว่านักเศรษฐศาสตร์ทุกท่านในโลก คือเหมือนว่าฟ้าจะกำหนดให้ตัวเขารู้ล่วงหน้าแบบไม่ตั้งใจ ว่างานวิจัยรวมถึงวิทยานิพนธ์ของเขาจะได้กลายมาเป็นตำราในการต่อสู้กับวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นจริงๆในอีกกว่า 30 ปีถัดมา โดยน่าจะมีวิทยานิพนธ์อยู่จำนวนไม่มากในขณะนั้น ที่มาโฟกัสกับการใช้บริบทของวิกฤต Great Depression ในทศวรรษ 1930 มาเป็นแบคกราวด์ในการทำวิจัยเจาะไปที่สถาบันการเงินที่ล้มละลายในยุคนั้น ว่าเป็นอีกปัจจัยหลักที่ทำให้วิกฤตดังกล่าวมีความรุนแรงมากและกินระยะเวลายาวนานกว่าทศวรรษแบบที่ไม่มีใครคิด จากนั้นเบอร์นันเก้ก็ได้นำงานดังกล่าวมาปรับปรุงและตีพิมพ์ในวารสารวิจัยชื่อดังในปี 1983 ซึ่งถือเป็นบทวิจัยที่ทางคณะกรรมการรางวัลโนเบลให้เครดิตว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดงของเขา อันนำมาซึ่งรางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ที่มอบให้แก่เบอร์นันเก้ ในปี 2022

จุดที่น่าแปลกใจคือ ตั้งแต่ราวๆปี 1990 เป็นต้นมา ความสนใจด้านการวิจัยของเบอร์นันเก้ก็หันมาทางหัวข้อ Inflation Targeting ซึ่งถือว่าเป็นคนละเรื่องกับงานวิจัยก่อนหน้าแบบสิ้นเชิง และที่น่าฉงนไปกว่านั้น คือในช่วงต้นปี 2008 ซึ่งเป็นช่วงที่เขาทำหน้าที่เป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐ เบอร์นันเก้ได้ละเลยความสำคัญของสถาบันการเงินต่อภาพเศรษฐกิจ โดยกล่าวว่าเศรษฐกิจสหรัฐในขณะนั้นไม่มีปัญหา แค่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเข้าถึงระดับเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ ทุกอย่างก็จะดีเอง

โดยอีกไม่ถึง 5 เดือนถัดมาจากคำพูดนี้ ตราสารซับไพร์มสหรัฐก็ทำให้เกิดวิกฤตการเงินโลกในเดือนกันยายน  2008 จากสภาพคล่องของสถาบันการเงินที่เข้าสู่ภาวะวิกฤตด้วยพิษของตราสารทางการเงินซับไพร์ม ทำให้เบอร์นันเก้ต้องนำผลงานวิจัยปี 1983 มาใช้เป็นตำราแก้วิกฤตดังกล่าวจนกลายเป็นตำนาน QE อย่างที่เรากล่าวขานกันจนถึงทุกวันนี้

หันมาพิจารณาดัคกลาส ไดมอนด์ กันบ้าง นับตั้งแต่ทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา ไดมอนด์ได้คู่หูใหม่ในการทำวิจัย นั่นคือ รากูราม ราจาน อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดีย โดยหันมาทำวิจัยด้านโมเดลสถาบันการเงินที่มาใช้ลูกเล่นทางด้านประเภทแหล่งเงินทุน สภาพการแข่งขันภายในเซกเตอร์แบงก์ รวมถึงการที่มีแบงก์บางแห่งหรือทั้งหมดในเศรษฐกิจเกิดล้มละลายขึ้นมา เพื่อพิจารณาว่าจะส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจอย่างไร

โดยถ้าจะเปรียบเทียบผลงานระหว่าง เบอร์นันเก้ ไดมอนด์ และ ดีปวิก หากจะวัดกันด้วยความอัจฉริยะทางด้านเทคนิคทางคณิตศาสตร์ในการสร้างแบบจำลอง ไม่ว่าจะเป็นในมิติของความใหม่และความลึกล้ำ แน่นอนว่าไดมอนด์ และ ดีปวิก ถือว่าเหนือกว่าเบอร์นันเก้ โดยผลงานแบบจำลอง Bank Runs ในปี 1983 ของทั้งคู่ ที่ได้รับรางวัลโนเบลในครั้งนี้ ถือว่าเป็นต้นแบบในการจุดประกายให้กับผลงานวิจัยเกี่ยวกับสถาบันการเงินอย่างมากมายในเวลาต่อมา

ทว่าในมิติของวิสัยทัศน์และความสวยงามของบทวิจัยนั้น การที่เบอร์นันเก้ได้นำเอาสถาบันการเงินเข้ามาแทรกในโมเดลเศรษฐกิจแบบ Neoclassic ในงานวิจัยที่เบอร์นันเก้ทำร่วมกับมาร์ค เกิร์ทเลอร์ และ ไซม่อน กิลไคร์ทส ในปี 1999 ด้วยเทคนิคที่สามารถเลี่ยงความซับซ้อนของโมเดลแต่สามารถตอบโจทย์ที่เบอร์นันเก้ตั้งไว้ในการศึกษาได้อย่างตรงประเด็น หากพิจารณาจากมิติของจินตนาการในสร้างสรรค์ผลงาน ถือว่าล้ำหน้าและเหนือกว่านักเศรษฐศาสตร์เกือบทุกท่านในยุคนั้น

หากจะเปรียบเป็นนักฟุตบอล ด้านสไตล์ของไดมอนด์ และ ดีปวิก มาจากความเด่นด้านความซับซ้อนเชิงเทคนิคของบทวิจัย ถือว่าคล้ายกับ พอล สโคลส์ คือหากวัดกันด้วยสถิติต่างๆ ไม่ว่าความล้ำลึกด้านการวิจัยหรือจำนวนครั้งการอ้างอิงบทวิจัย ถือว่าเหนือชั้นกว่าเบอร์นันเก้ ที่สำคัญบทวิจัย Bank Runs ของทั้งคู่ ยังเป็นการปิดทองหลังพระ นั่นคือถือเป็นต้นแบบที่มีบทวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์และการเงินหลากหลายแขนงในรุ่นต่อมาใช้อ้างอิงถึงแบบมากมาย

ส่วนสไตล์เบอร์นันเก้นั้น คล้ายคลึงกับเควิน เดอบรอยด์ หรือ โยฮัน ครัฟฟ์ นั่นคือบทวิจัยของเบอร์นันเก้ดูเหมือนจะไม่ได้มีความซับซ้อนด้านเทคนิคในตัวแบบจำลอง แต่อาศัยพลังแห่งจินตนาการของการผสมผสานแบบจำลองระหว่างสถาบันการเงินกับหน่วยเศรษฐกิจต่างๆ ก็สามารถนำมาซึ่งผลงานวิจัยที่โดดเด่นชนิดที่ว่าล้ำยุคไปมาก

เหนือสิ่งอื่นใด การที่เบอร์นันเก้สามารถนำงานวิจัยของเขามาประยุกต์ใช้ในการแก้วิกฤตซับไพร์มปี 2007-2009 แม้ว่าจะดูเสียฟอร์มเล็กน้อย ที่เขาไม่สามารถคาดการณ์วิกฤตการเงินโลกว่าจะมาถึงก่อนหน้า ในปี 2006 ถึงกลางปี 2008 ในขณะที่เขาทำหน้าที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐช่วงแรกๆก็ตามที จึงทำให้โลกไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเบอร์นันเก้เหมาะสมอย่างยิ่งกับรางวัลโนเบลด้านเศรษฐศาสตร์ ปี 2022 แบบเต็มภาคภูมิ

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

 

Comments