‘หยิน-หยาง’ แห่ง ‘เศรษฐกิจยุโรป’

มาริโอ ดรากิ อดีตประธานธนาคารกลางยุโรป ถือเป็นกูรูด้านหยิน ส่วน คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรปในปัจจุบัน ถือเป็นกูรูด้านหยาง ใน ‘หยิน-หยาง’ แห่ง ‘เศรษฐกิจยุโรป’

2021

มาริโอ ดรากิ อดีตประธานธนาคารกลางยุโรป ถือเป็นกูรูด้านหยิน ส่วน คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรปในปัจจุบัน ถือเป็นกูรูด้านหยาง

ปี 2021 โลกได้แชมป์วิ่งระยะทาง 100 เมตรในกีฬาโอลิมปิก เป็นชาวอิตาลี  วงการเศรษฐกิจยุโรปก็ได้ผู้นำชาติหลักชาติหนึ่งของทวีป อย่างอิตาลี ที่กำลังน่าจะพาเศรษฐกิจยุโรปให้วิ่งไปข้างหน้าได้ดีระดับหนึ่งหลังจากหยุดชะงักมาเกือบ 10 ปี เขาผู้นี้มิใช่เป็นใครที่ไหน ได้แก่ มาริโอ ดรากิ อดีตประธานธนาคารกลางยุโรป เจ้าของวลี “Whatever it takes” อันลือลั่น ว่ากันว่าสามารถช่วยกู้เศรษฐกิจยุโรปเมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งถือเป็นกูรูด้านหยิน หรือฝั่งเย็นหรือด้านอ่อนโยนของผู้นำแห่งเศรษฐกิจยุโรป

โดยภายใต้สไตล์การพูดจาแนวนักวิชาการแบบเยือกเย็นนั้น ดรากิกลับต้องการที่จะเปลี่ยนเกมแพลนการกระตุ้นเศรษฐกิจยุโรปด้วยกลยุทธ์ shock-and-awe strategy หรือกระตุ้นเศรษฐกิจแบบกระแทกอย่างหนักหน่วงเพื่อให้เศรษฐกิจอิตาลี ซึ่งติดกับดักสภาพเศรษฐกิจซบเซามากว่า 2 ทศวรรษ ให้สามารถกลับมาคึกคักอีกครั้งให้ได้

เขาเชื่อว่าความแรงของแพ็คเกจการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะกล่าวต่อไป จะน่าเชื่อถือเพียงพอที่จะเปลี่ยนความคาดหวังและละลายพฤติกรรมของนายจ้าง คนงานและผู้บริโภคให้กล้าลงทุนและใช้จ่ายในที่สุด

สำหรับแพ็คเกจการกระตุ้นเศรษฐกิจของดรากิ ประกอบด้วยเม็ดเงินจากสภายุโรปเป็นหลัก เริ่มตั้งแต่การอุมัติเงินล็อตแรกเพื่อสนับสนุนโครงการที่เน้นเศรษฐกิจสีเขียวเมื่อปลายปีที่แล้ว มูลค่า 6.9 หมื่นล้านยูโร หรือคิดเป็นร้อยละ 4 ของจีดีพี ซึ่งยังถือว่าสูงกว่าสัดส่วนที่ยุโรปเคยได้รับเงินช่วยเหลือจากแผนการฟื้นฟู Marshall หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียอีก

ที่มากไปกว่านั้น ดรากิยังได้รับการช่วยเหลือแบบ Subsidies อีก 1.3 หมื่นล้านยูโร ผนวกกับเงินกู้อีกกว่า 1.9 แสนล้านยูโร สิริรวมแล้วเป็นแพ็คเกจก้อนใหญ่มูลค่า 2.7 แสนล้านยูโร โดยกว่าร้อยละ 70 เป็นการลงทุนในโครงการใหม่เอี่ยม ถือเป็นประเทศที่ใช้งบกระตุ้นจากสภายุโรปมากที่สุดและยังใช้ได้แบบที่มีคุณภาพอีกด้วย

หันมาพิจารณาปัจจัยด้านคุณภาพกันบ้าง  ประกอบด้วย 1. การลงทุนภาครัฐ จะไม่สะเปะสะปะเหมือนรัฐบาลก่อนๆที่ผ่านมา ด้วยการจัดเรียงลำดับความสำคัญเพียงจุดหลัก 2-3 อย่าง และมอบหมายการดูแลการขับเคลื่อนโครงการไปให้กระทรวงการคลังดูแล โดยร้อยละ 40 ของเงินทั้งหมดลงไปที่ภาคใต้ของอิตาลีที่ถือว่ามีความล้าหลังกว่าภูมิภาคอื่นของประเทศ

  1. การปฏิรูปศาลยุติธรรม การเพิ่มระดับการแข่งขันในเซกเตอร์ต่างๆของเศรษฐกิจอิตาลี และการทำให้ระบบราชการทันสมัยขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ดรากิต้องทำ
  2. ด้วยความที่ถือเป็นผู้รู้เรื่องเศรษฐกิจเกือบจะดีที่สุดในยุโรป ดรากิเองไม่กังวลว่ารัฐบาลอิตาลีจะต้องสร้างหนี้เพิ่มเติม แม้อัตราส่วนหนี้ภาครัฐต่อจีดีพีจะสูงอยู่แล้ว โดยเขาหวังให้การเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่สูงขึ้นของอิตาลีเป็นตัวตอบโจทย์ให้กับตลาดได้รับฟัง ภายใต้บรรยากาศอัตราดอกเบี้ย ของยุโรปที่ต่ำจนแทบจะติดลบเป็นตัวช่วย

ปรัชญาการบริหารเศรษฐกิจของดรากินั้น เชื่อว่าความเสี่ยงของอิตาลี ไม่ได้อยู่ที่รัฐจะทำอะไรเพิ่มเติมให้เศรษฐกิจมากเกินไป แต่เสี่ยงที่มากกว่าอย่างมหาศาล มาจากการที่รัฐทำเพิ่มเติมให้กับเศรษฐกิจน้อยเกินไปมากกว่า

หันมาดูกูรูด้านหยางของเศรษฐกิจยุโรป หรือฝั่งร้อนหรือแข็งแกร่งของผู้นำ แห่งเศรษฐกิจยุโรปกันบ้าง เธอคือ คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรปท่านปัจจุบัน

แรกเริ่มเดิมทีนั้น ธนาคารกลางยุโรปหรืออีซีบีถือว่าเป็นธนาคารกลางที่มีความอนุรักษ์นิยม สูงกว่าภูมิภาคหลักอื่นๆ โดยไม่ยอมให้อัตราเงินเฟ้อเกินร้อยละ 2 รวมถึงยังเน้นให้จับตา ดูปริมาณเงินในระบบด้วย นอกเหนือจากการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อ เพียงอย่างเดียว ที่สำคัญ ยังเน้นให้อีซีบีโฟกัสเฉพาะไปสู่เป้าหมายนโยบายการเงิน ที่เน้นเสถียรภาพราคาเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี หลังจากที่ลาการ์ดเข้ามาเป็นผู้นำอีซีบีเพียงปีกว่าๆ ก็ได้เข้ามาเปลี่ยน Mindset ของอีซีบีแบบพลิกวงการ โดยเริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนให้อัตราเงินเฟ้อเป้าหมายร้อยละ 2 เป็นแบบสมมาตร นั่นคือ อาจจะปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อมากกว่าร้อยละ 2 ได้ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรก ในวงการแบงก์ชาติยุโรป

ทว่าเมื่อนำมาถัวเฉลี่ยแล้ว อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของเศรษฐกิจยุโรป ต้องอยู่ที่ร้อยละ 2 รวมถึงยกเลิกการพิจารณาปริมาณเงินในระบบ โดยหันเน้นมาพิจารณาอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียวตามสไตล์การวิเคราะห์ของฝั่งอเมริกา พร้อมกันนี้ ได้นำนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อสู้กับ Climate Change ให้มาเป็นโฟกัสหลักของอีซีบี แบบที่เธอเองก็ยอมรับว่าถือเป็นความชอบโดยส่วนตัวเองด้วย

ทั้งนี้ ลาการ์ดได้แสดงจุดยืนที่ถือว่าเอียงมาทางชอบกระตุ้นเศรษฐกิจให้อัตราการว่างงานน้อยลง มากกว่าที่จะห่วงใยเสถียรภาพด้านราคาอย่างชัดเจน โดยเธอเองพร้อม จะประกาศเม็ดเงินช่วยเหลือผ่านการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการเงินเพิ่มเติมอีก หากมาตรการที่มีออกมาอยู่อย่างเต็มที่แล้วในตอนนี้นั้น ยังเอาเศรษฐกิจยุโรปไม่อยู่ ซึ่ง ณ ตอนนี้ สิ่งที่เธอยังขาดไปในการบริหารเศรษฐกิจ ไม่ใช่เรื่องอื่นใด นอกจากความขลังของคำพูด ของเธอต่อตลาด ซึ่งยังมีไม่มากเพียงพอ อาจต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ เพื่อให้มีมนต์สะกด อย่างรุ่นพี่ประธานอีซีบีของเธอ ที่มีนามว่า มาริโอ ดรากิ

Comments