สหรัฐ vs. จีน กรณีไต้หวัน: สาเหตุ&ผลกระทบ

บทความนี้ พามาดูเบื้องหลังระหว่าง สหรัฐ vs. จีน กรณีความขัดย้งประเด็นไต้หวัน รวมถึงสาเหตุและผลกระทบจากเรื่องร้อนดังกล่าว

972

เมื่อโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐมาถึงเกือบ 2 ปีแล้ว พบว่าภาพยุทธศาสตร์ในส่วนนโยบายต่างประเทศต่อบรรดายักษ์ใหญ่ของโลกที่เป็นคู่แข่งก็เริ่มปรากฎชัดขึ้นเรื่อยๆ

เริ่มจากกรณีรัสเซีย โดยวลาดิเมียร์ ปูติน ที่มีความเชื่อส่วนตัวว่ายูเครนเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียมาโดยตลอด ทางผู้นำสหรัฐ แม้ว่าจะสามารถต่อสายตรงห้ามปรามการใช้กำลังทหารของรัสเซียรุกเข้ามาสู่ยูเครน ทว่าไบเดนกลับเลือกการเดินออกมาให้ห่างจากรัสเซียมาร่วมเป็นพันธมิตรกับยุโรปในการสังเกตการณ์ และคาดหมายว่ารัสเซียจะรุกคืบเข้าไปในยูเครนซึ่งก็เป็นเช่นนั้นในเวลาต่อมา

มาถึงกรณีไต้หวันในวันนี้ คราวนี้ สหรัฐใช้กลยุทธ์ที่นิยมกันในอดีต นั่นคือ เปิดให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศมาเยือนไต้หวันแบบเป็นการส่วนตัวในระดับหนึ่ง โดยที่ทางการสหรัฐไม่ได้มีความชัดเจนว่าจะไม่เห็นด้วยแบบชัดเจน ซึ่งตรงนี้ ถือเป็นการจุดไฟความไม่พอใจต่อทางการจีนแบบเต็มที่ ซึ่งอย่างที่ทราบกันว่า เป็นการบีบให้จีนออกมาตรการตอบโต้ทั้งทางการทหารและทางเศรษฐกิจ โดยหากออกมารุนแรงมาก ก็เป็นชนวนเหตุให้สหรัฐใช้เป็นแต้มต่อทางการเมืองระดับประเทศไปอีก

คำถามคือ เพราะเหตุใด ถึงต้องเป็นตอนนี้ด้วย? คำตอบ เห็นจะหนีไม่พ้นการที่สหรัฐจะไม่ต่ออายุมาตรการการตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้าส่งออกจากจีนไปสหรัฐในยุค โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เขาใช้ Trade War ในการทำสงครามกับจีน เพื่อที่จะลดความร้อนแรงจากเงินเฟ้อสหรัฐที่พุ่งสูงขึ้นจนใกล้จะแตะเลขสองหลักแล้ว เนื่องจากภาษีต่อสินค้านำเข้าของจีนไปสหรัฐเสมือนเป็นการขึ้นราคาสินค้าที่ซื้อขายกันในสหรัฐด้วย นั่นหมายถึงอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น

สิ่งนี้ จะกลายเป็นประเด็นเชิงลบต่อคะแนนเสียงของไบเดนและพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งสหรัฐปลายปีนี้ จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า การไปเยือนไต้หวันของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐในครั้งนี้ ถือเป็นปัจจัยที่สามารถกลบมาตรการภาษีต่อสินค้าจีนแบบเบ็ดเสร็จ เนื่องจากเป็นการแสดงออกถึงความแข็งกร้าวด้านการต่างประเทศของสหรัฐต่อจีนแบบที่เหมือนบุกเข้าไปในถ้ำเสือเลย อีกทั้งยังทำให้จีนถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลกมากขึ้น หากจะตัดสินใจใช้กำลังทหารต่อไต้หวัน ตรงนี้ ถือว่าเท่ากับเป็นการยิงปืนทีเดียวได้นกถึงสองตัว

อย่างไรก็ดี ถึงตรงนี้ ถือว่า สี จิ้น ผิง ผู้นำจีน สามารถบริหารจัดการสถานการณ์ได้ค่อนข้างดี โดยรับมือด้วยความสุขุมรอบคอบ โดยทำการซ้อมรบบริเวณรอบๆเกาะไต้หวันในทันที รวมถึงออกมาตรการตอบโต้ทางการค้าผ่านการห้ามนำเข้าสินค้ากว่า 2 พันรายการจากไต้หวัน และยกเลิกความร่วมมือด้านต่างๆ รวมถึงด้านนโยบาย Climate Change กับสหรัฐ

ทางสหรัฐ ก็ยังคงใช้กลยุทธ์เดิมที่ใช้กับรัสเซียที่ก็ได้ผลในกรณียูเครน นั่นคือ เตือนจีนว่าอย่าใช้กำลังทหารต่อไต้หวัน มิเช่นนั้น จะตอบโต้แบบรุนแรง โดยเข้าแนวทางในการกดดันให้จีนต้องตอบโต้มากขึ้น ซึ่งถึงตรงนี้ จีนก็ไม่ได้หลงเหลี่ยมแต่อย่างใด

น่าสังเกตว่า ประเทศที่ถือว่าวางตัวต่อกรณีศึกช้างชนช้างนี้ได้ดี คือ เกาหลีใต้ โดยผู้นำ ยุน ซัค ยัล ได้เลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับจีน ด้วยการที่เลือกให้ตัวแทนของตนเข้าพบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐที่มาเยือนแทนที่ตนเองจะออกมาพบ ซึ่งทั้งเกาหลีใต้และไต้หวันถือเป็นคู่แข่งกันการผลิตชิพเซมิคอนดัคเตอร์ในระดับโลก โดยที่จีนเป็นผู้ซื้อที่มีสัดส่วนของยอดออร์เดอร์สินค้ารวมถึงหนึ่งในสามของทั้งหมด ดังนั้น เกาหลีใต้ ดูเหมือนจะเป็นผู้ได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อยจากเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐ ต่อกรณีของไต้หวันในครั้งนี้

ในส่วนผลกระทบต่อไทยนั้น ประเด็นที่น่าจะส่งผลถึงในอนาคตคือ  หากว่าจีนทำสงครามทางการค้ากับสหรัฐขึ้นมา สินค้าส่งออกของไทยที่ไปเข้าข่ายการกีดกันทางการค้าของทั้งคู่ ตรงนี้ ไทยอาจจะเจ็บตัว รวมถึงประเด็นอุปทานติดขัดหรือ Supply chain disruption ที่อาจเกิดขึ้นผ่านการที่จีนจะทำการซ้อมรบบริเวณช่องแคบระหว่างไต้หวันกับจีน ซึ่งถือเป็นพื้นที่ในการขนถ่ายสินค้าอย่างหนาแน่นซึ่งมีสัดส่วนเกินครึ่งของทั้งหมดในแถบนี้ อีกทั้งความขัดแย้งของพื้นที่น่านน้ำบริเวณทะเลจีนใต้ ระหว่างประเทศอาเซียน ทั้งฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น กับจีน น่าจะมีโอกาสเกิดสูงขึ้น ดังนี้

  1. ภาคการท่องเที่ยวจากจีน: มีโอกาสที่นักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางมาเที่ยวในไทยช้าลงกว่าที่คาดไว้ แม้สถานการณ์โควิดของจีนจะดีขึ้นจากโฟกัสประเด็นไต้หวันของทางการจีน
  2. ค่าระวางเรือที่สูงขึ้นในฝั่งเอเชีย มีโอกาสที่เงินเฟ้อบ้านเราจะสูงต่อเนื่องเป็นเวลานานขึ้น จากประเด็นอุปทานติดขัดอีกครั้ง เนื่องจาก ประเด็นช่องแคบระหว่างไต้หวันกับจีนที่ทำการซ้อมรบของจีน เป็นพื้นที่ในการขนถ่ายสินค้าที่มีปริมาณสินค้าค่อนข้างหนาแน่น รวมถึงพื้นที่น่านน้ำบริเวณทะเลจีนใต้น่าจะเกิดความเสี่ยงสูงขึ้นด้วย
  3. ราคาสินค้าโภคภัณฑ์น่าจะจะสูงขึ้น อีกครั้ง จากการกีดกันทางการค้าต่อไต้หวันและสหรัฐ ทั้งสินค้าเกษตรกรรมและโลหะบางประเภทกับค่าระวางเรือที่สูงขึ้น

บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

ที่มาภาพ: ChannelNewsAsia

Comments