ลงทุน ‘กองทุนแนวไหนดี’ หลังเงินเฟ้อสหรัฐเริ่มมียุบ?

ณ ตรงนี้ หลังเงินเฟ้อสหรัฐเริ่มมียุบ ลองมาส่องหากองทุนแนวที่คิดว่าน่าจะโดน ในช่วงที่เหลือของปีนี้กัน

850

ก่อนอื่นขอแสดงความยินดีกับแฟนหุ้นและหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐที่ ณ ตรงนี้ ดัชนี S&P500 ดีดกลับมาขึ้นถึงครึ่งทางแล้ว จากจุดต่ำสุด ณ ตรงนี้ ลองมาส่องหากองทุนแนวที่คิดว่าน่าจะโดน ในช่วงที่เหลือของปีนี้กันครับ

ขอเริ่มจากแนวที่เป็น Market Call ในตอนนี้กันก่อน นั่นคือ กองทุนแนว Healthcare ที่เน้นตลาด Global อย่างสหรัฐ หรือยุโรป แม้ว่าที่ผ่านมากว่า 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาโดยเฉลี่ยจะขึ้นมาราวกว่าร้อยละ 10 ทว่าหากพิจารณาจากความถูกแพงจากอัตราส่วน P/E ก็ไม่ถือว่าแพง แถมได้ตัวช่วยจากกฎหมายใหม่ของสหรัฐว่าด้วยการเน้นลดเงินเฟ้อที่เพิ่งผ่านสภาคองเกรสขนาด 7 แสนล้านดอลลาร์โดย โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐมาหมาดๆด้วย หากพิจารณาเป็นรายกองทุน ก็ยังชอบแนว House Fund อย่าง BCare หรือ KGhealth มากกว่ากองทุนที่เน้นเซกเมนท์แบบเฉพาะทางมากกว่า

กองทุนแนวที่สองที่ผมมองว่าน่าสนใจ คือ กองทุนแนว Global Infrastructure ที่เน้นลงทุนในฮาร์ดแวร์หรือ Facility ที่เกี่ยวกับภาคโทรคมนาคมและพลังงานแบบทั้งต้นน้ำและกลางน้ำ รวมถึงลงทุนในหุ้นพลังงานทางเลือกตัวใหญ่ในสหรัฐ ซึ่งยังมองว่ากองทุนแนวนี้ได้รับผลดีจากกฎหมายใหม่ของสหรัฐว่าด้วยการเน้นลดเงินเฟ้อที่เพิ่งผ่านสภาคองเกรสมา รวมถึงสามารถยังพอจะยืนได้ภายใต้ตลาดที่อาจจะมีการแกว่งแรงๆในอนาคตได้ค่อนข้างดี

กองทุนแนวถัดไปที่ผมมองว่าน่าสนใจในมุม Trading Buy แต่อาจต้องซื้อตอนที่ราคาย่อลงแล้วขายตอนหรือก่อนที่แบงก์ชาติประกาศขึ้นดอกเบี้ยนั่นคือ กองทุนหุ้นแบงก์ไทย

จากการวิเคราะห์ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐกับไทยในอดีต พบว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ จากร้อยละ 0.5 ในวันนี้ น่าจะขึ้นไปสู่ระดับร้อยละ 2.5 ในช่วงกลางปีหน้า

คำถามคือ เมื่อเข้าซื้อแล้วเราควรจะขายกองทุนหุ้นแบงก์ไทยออกในช่วงใดดี? คำตอบในเชิงอุดมคติ คือ ขายตอน Interest Marginสูงสุด และ อัตราการเพิ่มปริมาณสินเชื่อสูงสุด ซึ่งถือว่าไม่ง่ายที่จะหาช่วงเวลานั้นแบบตรงพอดิบพอดี

อย่างไรก็ดี คำตอบแบบในเชิงปฏิบัติ คือ ควรจะขายหุ้นแบงก์ในช่วงเวลาครั้งฟนึ่งครั้งใด ดังต่อไปนี้ คือ หนึ่ง ขายตอนแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก หรือ สอง ขายตอนแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่เป็นช่วงกลางๆของการขึ้นดอกเบี้ย หรือ สาม ขายตอนแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยครั้งท้ายๆ ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน ดังนี้

  1. เหตุผลที่ขายตอนขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก มีข้อด้อย คือ Interest Margin เริ่มกว้างขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ดี มีความคาดหวังว่าแบงก์ชาติจะขึ้นดอกเบี้ยต่ออีกหลายครั้งเป็นตัวช่วย ทว่ามีข้อดีคือผลกระทบเชิงลบจากการขึ้นดอกเบี้ยต่อการเติบโตของจีดีพียังเกิดขึ้นน้อย
  2. เหตุผลที่ขายตอนขึ้นดอกเบี้ยครั้งเป็นช่วงกลางๆของการขึ้นดอกเบี้ย มีข้อด้อยคืออัตราการเติบโตของจีดีพีเริ่มได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้นกว่าตอนแรกๆ ทว่ามีข้อดี คือ Interest Margin เริ่มกว้างขึ้นกว่าตอนขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก
  3. เหตุผลที่ขายตอนแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยครั้งท้ายๆ มีข้อด้อยคืออัตราการเติบโตของจีดีพีเริ่มได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยมากเกือบจะที่สุด ทว่ามีข้อดี คือ Interest Margin กว้างที่สุดเช่นกัน

โดยช่วงเวลาที่คาดว่าแบงก์ชาติจะขึ้นดอกเบี้ย น่าจะกินเวลาทั้งหมดประมาณ 1 ปี เริ่มจากเดือนสิงหาคม 2022 โดยสำหรับการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณว่าจะขึ้นอีกร้อยละ 2 ซึ่ง ณ ตอนนี้ ถ้าซื้อแล้วก็น่าจะขายออกภายใน 1 ปีนับจากนี้ ดัง timing ที่ 2 และ 3 จากคำอธิบายข้างต้น

อย่างไรก็ดี อาจต้องระวังนิดนึงในการลงทุนแบบระยะยาว เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว มีโอกาสสูงที่จะจะทำให้อัตราการเติบโตของสินเชื่อของไทยอาจจะไม่สามารถเติบโตได้ดีกว่าชาติอื่นในอาเซียนเหมือนอย่างเคยในปีหน้า นอกจากนี้ NPL ของไทยในปีหน้า ก็อาจจะขยับสูงขึ้นทั้งจากภาระหนี้ของผู้กู้ที่สูงขึ้นในบางส่วน รวมถึงดอกเบี้ยที่สูงจะไปชะลอการเติบโตของจีดีพีในบางส่วน

กองทุนแนวสุดท้าย ที่ผมมองว่าน่าสนใจคือ กองทุนพลังงานสีเขียว (Green Energy) ของสหรัฐ ซึ่งได้ประโยชน์จากจากกฎหมายใหม่ของสหรัฐว่าด้วยการเน้นลดเงินเฟ้อที่เพิ่งผ่านสภาคองเกรสมา ทว่าความยากของการลงทุนแนวนี้ คือ การเลือกจังหวะที่จะเข้าซื้อ เนื่องจากราคาขึ้นไปมากพอสมควรแล้วในตอนนี้ ทว่าผมมองว่าก็ยังพอมีช่องว่างในการขึ้นไปอีก ทว่าจุดที่อาจจะเป็นความเสี่ยงคือ มีความเป็นไปได้ว่า น่าจะมีความผันผวนในช่วงเดือนกันยายนหรืออาจจะนานกว่านั้น ซึ่งกระนั้นก็ดี แนวโน้มที่ราคาจะขึ้นไปจากตรงนี้ก็น่าจะยังมีอยู่พอสมควรในความเห็นของผม

แล้วก็อย่าลืมว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนต้องศึกษาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจในการลงทุน

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

 

 

 

Comments