‘นัย’ จากสัปดาห์การประชุมธนาคารกลางโลก

บทความนี้จะขอไล่เรียงไฮไลต์ รวมถึงนัยของเหตุการณ์ต่างๆในสัปดาห์พิเศษแห่งการประชุมธนาคารกลางหลักของโลก ที่มีอย่างครบถ้วนเพียงครั้งเดียวในปีนี้

1868

บทความนี้จะขอไล่เรียงไฮไลต์ รวมถึงนัยของเหตุการณ์ต่างๆในสัปดาห์พิเศษแห่งการประชุมธนาคารกลางหลักของโลก ที่มีอย่างครบถ้วนเพียงครั้งเดียวในปีนี้

โดยปกติเรามักจะไม่ค่อยได้เห็นสีสันหรือนัยในการประชุมธนาคารกลางหลักของโลกที่ส่งต่อถึงกันและกันมากสักเท่าไหร่ ถ้าจะมีข้อยกเว้น ผมคิดว่าน่าจะเป็นการประชุมธนาคารกลางหลักทุกแห่งของโลก เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

บทความนี้จะขอไล่เรียงไฮไลต์รวมถึงนัยของเหตุการณ์ต่างๆในสัปดาห์พิเศษแห่งการประชุมธนาคารกลางหลักของโลกที่มีอย่างครบถ้วนเพียงครั้งเดียวในปีนี้ ดังนี้

เริ่มจาก ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ที่ได้กรุยทางการเร่งลดปริมาณการซื้อพันธบัตร ในนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE ให้เสร็จสิ้นเร็วขึ้น 3 เดือน โดยให้มาจบโครงการที่เดือนมีนาคม 2022 รวมถึงDot plot หรือความเห็นของสมาชิกเฟดต่ออัตราดอกเบี้ยและเศรษฐกิจในอนาคต ปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่ของผู้ว่าเฟดในรัฐต่างๆประเมินว่าการขึ้นดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 ในปีหน้า และเสียงส่วนใหญ่มองการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกที่เดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2022

โดยไฮไลต์ของการประชุมเฟดในครั้งนี้ คือช่วงการตอบปัญหาของเจย์ พาวเวล ประธานเฟด ซึ่งสามารถทำได้อย่างสมบูรณ์แบบมากครั้งหนึ่ง เลยส่งผลดีต่อตลาดหุ้นสหรัฐในวันนั้นขึ้นมาได้พอสมควร

ด้านนัยจากการประชุมเฟด คือ การเปิดกว้างของการดำเนินนโยบายการเงินในปีหน้าของเฟด ที่แม้จะขึ้นดอกเบี้ยค่อนข้างแน่ในช่วงต้นถึงกลางปีหน้า แต่จำนวนครั้งที่ขึ้นและจังหวะในการขึ้นยังคงเปิดกว้าง โดยขึ้นกับปัจจัยต่างๆในอนาคต อาทิ โควิดโอมิครอน และ งบกระตุ้นภาครัฐในส่วน 2 ล้านล้านดอลลาร์ของผู้นำสหรัฐ ว่าจะสามารถผ่านได้ยากง่ายแค่ไหนซึ่งจะมีผลต่อจีดีพี และอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐในปีหน้า

คราวนี้ หันมาพิจารณาการประชุมธนาคารกลางยุโรปหรืออีซีบีกันบ้าง

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า QE ของยุโรปในขณะนี้ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็น QE แบบที่เริ่มทำมาตั้งแต่กว่า 10 ปีที่แล้ว ซึ่งเรียกในยุโรปกันว่า APP หรือ Asset Purchase Programและ ส่วนที่สองเป็น QE แบบที่ทำขึ้นมาเพื่อกระตุ้นสู้กับโควิดที่เกิดขึ้น ซึ่งเรียกในแบงก์ยุโรปกันว่า PEPP หรือ Pandemic Emergency Purchase Program โดยในขณะนี้ มีมูลค่ารวมกันประมาณกว่า 4 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ซึ่งทางอีซีบีกำลังจะไม่ต่ออายุโครงการ PEPP ที่กำลังจะหมดอายุลงในเดือนมีนาคม 2022 โดยจะไปเพิ่มเงินใน APP ให้เท่ากับ 4 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ในไตรมาส 2 ปี 2022 จากนั้น จะลดเหลือ 3 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ในไตรมาส 3 ปี 2022 และเหลือ 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน หลังจากนั้น ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามที่ตลาดคาดไว้ทั้งหมด

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ตลาดดูจะผิดหวังกับอีซีบี คือการที่คริสติน ลาการ์ด ประธานอีซีบี ออกจะให้น้ำหนักว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำในปีหน้าแบบที่ไม่หนักแน่นเหมือนกับช่วงต้นเดือนที่แล้ว จึงส่งผลให้ตลาดหุ้นยุโรปลดลงเล็กน้อย รวมถึงค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยหลังการประชุมอีซีบี

ด้านนัยจากการประชุมของอีซีบี คือ ต้องจับตาความต่อเนื่องของนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ ในปีหน้าของอีซีบี รวมถึงการปรับเม็ดเงิน QE ของทั้งสองโครงการว่าจะส่งผลต่อตลาดพันธบัตร ของประเทศต่างๆในยุโรปอย่างไรบ้าง

คราวนี้ วกกลับมาดูการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ ที่เซียนต่างๆไม่กล้าฟันธงว่าจะขึ้น หรือคงดอกเบี้ยต่อกันแน่ ผลปรากฏว่าแบงก์ชาติอังกฤษหักปากกาเซียนไปหลายสำนัก ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 0.1 ขึ้นเป็นร้อยละ 0.25  โดยเหตุผลหลักคือมองว่าอัตราเงินเฟ้อของอังกฤษ น่าจะขึ้นเป็นร้อยละ 6 ในเดือนเมษายน ปีหน้า จึงจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้

ด้านนัยจากการประชุมธนาคารกลางอังกฤษในครั้งนี้ คือแม้ว่าเงินเฟ้ออังกฤษจะขึ้นมาเยอะ เลยมองกันว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของอังกฤษยังต้องขึ้นอีกราว 2 ครั้ง อย่างไรก็ดี ด้วยการที่ตัวเลขจีดีพีและตัวเลขข้อมูลด้านการบริโภคอังกฤษออกมาค่อนข้างแผ่วลงเยอะ จึงอาจจะเป็นการยากที่ธนาคารกลางอังกฤษจะขึ้นดอกเบี้ยแบบหลายครั้งเกินไป รวมถึงแอนดริว ไบลีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ ให้มุมมองว่าอัตราเงินเฟ้อของอังกฤษยังออกได้ทั้งบวกและลบ หรืออาจกลายเป็นเงินฝืดจากสถานการณ์โอมิครอนที่หากรุนแรงมาก จะไปฉุดอุปสงค์ให้ลดลงจนอาจเกิดเงินฝืดได้เหมือนกัน

ท้ายสุด มาพิจารณาการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งสิ่งที่ผิดคาดไปเล็กน้อยคือการลด QE หุ้นกู้ภาคเอกชน เหลือ 3 ล้านล้านเยนต่อเดือน สำหรับ Commercial Paper และ 2 ล้านล้านเยนต่อเดือน สำหรับหุ้นกู้ภาคเอกชน หรือกลับมาในระดับที่ซื้อในช่วงก่อนโควิด โดยเริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย. 2022 ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงสัญลักษณ์ว่าดำเนินนโยบายการเงินคล้อยตามเฟด เนื่องจาก QE หุ้นกู้ภาคเอกชน ไม่ได้มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากเท่ากับการซื้อพันธบัตรหรือ ETF หุ้น ที่แบงก์ชาติญี่ปุ่นทำอยู่แบบจัดเต็ม

ด้านนัยจากการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือบริษัทขนาดเล็กซึ่งออกมาในรูปแบบการลดดอกเบี้ยลงในครั้งนี้ น่าจะมีออกมาเพิ่มเติมในอนาคตตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีท่านใหม่ ฟูมิโอะ คิชิดะ

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

 

 

 

 

Comments