ช่วยเลือกกองทุนประหยัดภาษีแบบ Rule of Thumb

ในบทความของวันแรกของปี 2021 ผมเขียนถึงอีทีเอฟ ARK ว่าเป็นอีทีเอฟแห่งปี 2020 ของโลก มาถึงบทความสุดท้ายในปี 2021 ผมขอกลับมาวิเคราะห์กองทุนที่ใกล้ตัวกันบ้าง ซึ่งหลายท่านน่าจะต้องทำกันทุกปี นั่นคือการตัดสินใจจะเลือกกองทุนประหยัดภาษีกองไหนดี

1325

 

ในบทความของวันแรกของปี 2021 ผมเขียนถึงอีทีเอฟ ARK ว่าเป็นอีทีเอฟแห่งปี 2020 ของโลก มาถึงบทความสุดท้ายในปี 2021 ผมขอกลับมาวิเคราะห์กองทุนที่ใกล้ตัวกันบ้าง ซึ่งหลายท่านน่าจะต้องทำกันทุกปี นั่นคือการตัดสินใจจะเลือกกองทุนประหยัดภาษีกองไหนดี โดยในปีนี้ ผมขอแชร์การวิเคราะห์ของผมเอง ซึ่งทำไว้แบบที่ถือว่าละเอียดพอสมควร โดยที่ต้องขอบอกว่าความเห็นของผมอาจจะแตกต่างจากท่านผู้อ่าน ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับมุมมองในเรื่องนี้

ขอเริ่มจากเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินกองทุนแบบ Rule of Thumb ของผมกันก่อนว่าเป็นอย่างไร ดังนี้

  1. ผมมักจะถือกองทุนรวมยาวกว่า 1 ปี โดยทั่วไป มักจะถือไว้ประมาณ 3 ปีหรือนานกว่านั้น ถ้าคุณลงทุนแบบนี้ควรดูตัวเลือกการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงเป็นอันดับต้นๆ ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาหรือนานกว่านั้น เพราะมักจะมีโอกาสทำกำไรใน 3 ปีถัดไป ซึ่งดีกว่ากองทุนรวมที่มีผลตอบแทนต่ำกว่า ดังนั้นทางออกของปัญหาว่าจะเลือกลงทุนกองทุนไหนดีนั้นแทบจะหมดไปหากลงทุนยาวหน่อย โดยเลือกลงทุนกองทุนรวมที่มีผลตอบแทนดีๆ ในช่วงระยะเวลาเท่ากับหรือนานกว่าช่วงเวลาที่คุณวางแผนจะถือ
  2. นอกจากนี้ แนะนำให้พิจารณากองทุนรวมที่มีคุณลักษณะ 4 ประการ คือ

ประการหนึ่ง    อย่าเลือกกองทุนตัวที่มีผลประกอบการในปีใดปีหนึ่งหรือมากกว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกองทุนรวมในกลุ่มเดียวกันมากจนเกินไป เนื่องจากจากอดีตที่ผ่านมา แทบจะไม่มีกองทุนใดที่สามารถชนะตลาดแบบทิ้งขาดมากๆ มากกว่า 1 ปี หากประเมินในช่วงระยะเวลาทั้งหมด 5 ปี

ประการที่สอง อย่าเลือกกองทุนรวมที่อยู่ในโซนที่โหล่รั้งท้ายคือในช่วงอันดับร้อยละ 10 จากข้างล่าง เช่นหากมีกองทุน 50 กอง อย่าเลือกกองที่เคยได้อันดับ 46-50

ประการที่สาม อย่าเลือกกองทุนที่ครองแชมป์ติดต่อกัน 2-3 ปี เพราะเสี่ยงว่าจะซื้อของแพง

ประการที่สี่      ให้เลือกกองทุนรวมที่ติดอันดับครึ่งแรกของตารางตลอด 5 ปี หรือถ้าดีกว่านั้น ได้ติดอันดับหนึ่งในสี่ของตารางตลอด 5 ปี

ผมใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าว ประเมินกองทุนรวมประหยัดภาษีของ 7 บลจ. ที่ผมมองว่ามีการออกกองทุนประหยัดภาษีค่อนข้างมาก โดย 4 บลจ. มาจากธนาคารขนาดใหญ่ และ 3 บลจ. มาจากที่ไม่ใช่แบงก์ใหญ่

ปรากฏว่า ได้กองทุน อันดับแรกใน 3 หมวด ของ SSF และ RMF ดังนี้

โดยหมวดแรกเป็นหมวดของกองทุนที่เน้นการจ่ายปันผลและดอกเบี้ย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เป็นกองทุนที่มีตราสารหนี้และหุ้นแนวเน้นผลตอบแทนระยะยาวผสมอยู่ค่อนข้างมาก เริ่มจาก SSF ขอเลือก กองทุนเปิดเค โกลบอล อินคัม  ชนิดเพื่อการออมซึ่งมีกองทุนแม่เป็น JPMorgan Investment Funds – Global Income Fund

เนื่องจากมีผลตอบแทนที่ค่อนข้างสม่ำเสมอในแต่ละปี ส่วนของกองทุน RMF ในหมวดนี้ ผมเลือกกองทุนบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์เพื่อการเลี้ยงชีพ ซึ่งมีกองทุนแม่เป็น Wellington Global Health Care Equity Fund ด้วยเหตุผลเดียวกัน

สำหรับในหมวดที่สอง เป็นหมวดของกองทุนที่เน้นกองทุนหุ้นต่างประเทศ เริ่มจาก SSF ที่ถือครองขั้นต่ำ 10 ปี เลือกกองทุน One-UGG-ASSF ซึ่งมีกองทุนแม่เป็น Baillie Gifford Long Term Global Growth Fund

เน้นหุ้นเติบโตสูงแบบระยะยาวทั่วโลก โดยให้น้ำหนักไปที่ตลาดหุ้นสหรัฐมากที่สุด ส่วนของกองทุน RMF ในหมวดนี้ ผมเลือกกองทุน K-Europe RMF ซึ่งมีกองทุนแม่เป็น   Allianz Europe Equity Growth

โดยมองว่าคนซื้อ RMF ส่วนใหญ่ น่าจะมีระยะเวลาถือครองน้อยกว่า 10 ปี ซึ่งตลาดหุ้นยุโรปน่าจะมีมูลค่า ณ ตรงนี้ ยังไม่แพงมากจนเกินไป

สำหรับในหมวดที่สาม เป็นหมวดของกองทุนที่เน้นแบบการลงทุนทางเลือก เริ่มจาก SSF ขอเลือก กองทุน MRenew SSF ซึ่งมีกองทุนแม่เป็น BGF Sustainable Energy Fund เนื่องจากมีผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับกองทุนอื่นๆ ในลักษณะใกล้เคียงกันแต่มีระดับความเสี่ยงที่ดูต่ำกว่า ส่วนของกองทุน RMF ในหมวดนี้ ผมเลือกกองทุน KF Infra RMF ซึ่งมีกองทุนแม่เป็น Credit Suisse (Lux) Infrastructure Equity Fund เนื่องจากมีผลตอบแทนที่ค่อนข้างสม่ำเสมอในแต่ละปี

หากใครที่สนใจกองทุนรวม จะพบว่ากองทุนเกือบทั้งหมดเป็นกองทุนที่ถือว่าคุ้นหูกันในระดับหนึ่ง อาจจะมี MRenew SSF ที่ยังถือว่าค่อนข้างใหม่ ผมจึงนำมาทดสอบกับกองทุนชั้นนำในลักษณะที่มีความใกล้เคียงกัน ปรากฏว่าก็ยังมองว่า MRenew SSF ดูน่าสนใจมากอยู่ดี

และทั้งหมดคือกองทุนประหยัดภาษีในปีนี้ที่ผมมองว่าน่าสนใจ แต่ต้องไม่ลืมว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจในการลงทุน

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

Comments