บทสรุปประชุม 3 แบงก์ชาติหลัก ก่อน Q4

บทความนี้ จะขอสรุปผลลัพธ์และควันหลงต่างๆหลังจากที่ได้ธนาคารกลางหลัก 3 แห่งประชุมกันจนเสร็จครบเรียบร้อยแล้ว

431

อย่างที่ผมได้พรีวิวไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่าด้วยการประชุมธนาคารกลางหลัก 3 แห่ง อันประกอบด้วย ธนาคารกลางสหรัฐ  ธนาคารกลางอังกฤษ และ ธนาคารกลางญี่ปุ่น ว่าน่าจะออกมาอย่างไรกันบ้าง บทความนี้ จะขอสรุปผลลัพธ์และควันหลงต่างๆหลังจากที่ได้ประชุมกันจนเสร็จครบเรียบร้อยแล้ว

ขอเริ่มจากธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ที่ได้ตัดสินใจคงดอกเบี้ยที่ 5.25-5.5% ตามเดิม อย่างที่คาดกันไว้ โดยการประชุมในครั้งนี้ถือว่า เฟดสามารถโน้มน้าวตลาดให้เชื่อว่ามีการต้องการต่อสู้กับเงินเฟ้ออย่างจริงจังด้วยวิธีการ 2 แนวทาง ดังนี้

หนึ่ง แนวทางใช้ความจริงใจว่าเฟดไม่สามารถหยั่งรู้ถึงอนาคตเศรษฐกิจสหรัฐได้ดีกว่าคนทั่วไป: โดยเจย์ พาวเวล ประธานเฟด ยอมรับว่าความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจสหรัฐในตอนนี้มีอยู่สูงมากเสียจนกระทั่งตัวเขาเองก็ไม่มีคำตอบแบบชัดเจนสำหรับนโยบายการเงินสหรัฐในช่วงถัดไปให้กับทุกคน ณ วันนี้ โดยต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินตรงหน้างานตามตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาในอนาคต

ซึ่งตรงนี้ ถือเป็นเทรนด์ที่นายธนาคารกลางยุคนี้นิยมใช้กันคือ มีความหนอบน้อมหรือเปิดรับในความคิดหรือความเห็นต่อภาวะเศรษฐกิจในช่วงเวลาต่างๆ โดยไม่เชื่อความเห็นของตนเองว่าถูกต้องเสมอไป ซึ่งตลาดก็ออกจะเชื่อว่าเฟดโดยผู้นำอย่างพาวเวลไม่ได้มีทางแก้ของเศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในใจแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งเลยส่งผลให้เชื่อว่าพาวเวลจะระวังให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ ในช่วงเวลาที่ความเสี่ยงด้านราคาของสหรัฐยังไม่นิ่งแบบไว้วางใจได้เสียทีเดียว

สอง ผลของการคาดการณ์ของสมาชิกเฟดทั้ง 19 ท่าน หรือ Dot Plot ว่าด้วยคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐและอัตราดอกเบี้ยสหรัฐในอนาคต ซึ่งถือเป็นตัวดัชนีที่บอกถึงความจริงจังในการสู้กับเงินเฟ้อหรือ Hawkish ของสมาชิก เฟด ปรากฎว่าสมาชิก 12 ใน 19 ท่าน คาดว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ รวมถึงเพิ่มค่าคาดการณ์ของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ ณ สิ้นปี 2024 ขึ้นมาอีก 0.7% จากครั้งก่อน เป็น 5.1% และ ของ ณ สิ้นปี 2025 ขึ้นเป็น 4% ซึ่งหมายความว่าสมาชิกเฟดมองว่าน่าจะมีการลดดอกเบี้ยน้อยครั้งกว่าการประมาณการณ์ครั้งก่อนเฉลี่ยถึงประมาณ 2 ครั้งในปีถัดๆไป

อย่างไรก็ดี การกล่าวคำว่า ‘Proceed Carefully’ ถึง 6 ครั้งของพาวเวลในการแถลงข่าวหลังการประชุมเฟด ถือว่าเป็นการป้องกันไม่ให้ตลาดตระหนกเกินกว่าเหตุ  ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยแบบไม่ลืมหูลืมตาเพียงอย่างเดียว

ในวันถัดมา มีการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ หรือ บีโออี ซึ่งเกิดปาฏิหาริย์ขึ้นก็น่าจะไม่ใช่คำพูดเกินความจริงไปมากนัก เมื่อ แอนดริว เบอร์ลีย์ ผู้ว่าแบงก์ชาติอังกฤษ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินตัดสินใจเสนอให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 4.25% และสามารถโหวตผ่านด้วยเสียง 5-4 โดยเบื้องหลังคือมีการส่งจดหมายเปิดผนึกตอบโต้กัน ระหว่างผู้ว่าฯ ไบล์รีย์ กับ เจเรมี ฮันท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอังกฤษหลายครั้ง ซึ่งได้เปิดเผยต่อสาธารณชนหลังการประชุม
เนื้อหาหลักคือประเมินว่าอัตราเงินเฟ้ออังกฤษได้ลดลงมาต่อเนื่อง 3 เดือนแล้วจนมาอยู่ที่ระดับ 6.7% แล้ว จากที่เคยสูงเกิน 10% ในช่วงสูงสุด ซึ่งน่าจะลดลงได้อีกในเดือนถัดไป จึงให้ความเห็นว่าน่าจะคงดอกเบี้ยได้แล้ว เนื่องจากอานิสงก์ของการขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติอังกฤษ 14 ครั้งที่ผ่านมา ได้มีผลต่อเงินเฟ้อให้ลดลงด้วยความเร็วที่น่าพอใจ ซึ่งก็ปรากฏชัดว่าไบร์ลีย์เป็นผู้ที่โน้มน้าวสมาชิกอีก 4 ท่านมาช่วยโหวต จนกลายเป็นมติคงดอกเบี้ยในครั้งนี้แบบช็อคโลกในระดับหนึ่ง

โดยผลจากการคงดอกเบี้ยส่งผลต่อค่าเงินปอนด์ให้อ่อนลงมาแตะจุดต่ำสุดในรอบปี อย่างไรก็ดี ผลสำรวจจากนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ยังคงเชื่อว่าบีโออีจะขึ้นดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งก่อนเดือนมีนาคม ปีหน้า

ท้ายสุด ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ บีโอเจ ที่หลายคนลุ้นว่าจะมีประโยคว่าด้วยการส่งสัญญาณถึงการสิ้นสุดของนโยบายการเงินแบบติดลบให้เห็นกันหรือไม่ ตามที่ผู้ว่าบีโอเจ คาซึโอะ อูเอดะ ได้เคยให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นฉบับหนึ่งเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ในทำนองว่าโอกาสไม่ใช่เป็นศูนย์ที่จะเปลี่ยนนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบเป็นนโยบายอัตราดอกเบี้ยแบบเป็นบวก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ส่งผ่านมาจากค่าจ้างเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นจนทำให้ระดับราคาสูงขึ้นแบบยั่งยืนขึ้นในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ปรากฎว่าผลประชุมบีโอเจเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ออกมาแบบที่คงนโยบายทุกอย่างไว้ตามเดิมด้วยมติเป็นเอกฉันท์ โดยไม่ได้มีการพูดถึงประเด็นการเปลี่ยนหรือส่งสัญญาณว่าจะเปลี่ยนนโยบายการเงินใดๆออกมาเหมือนแทบทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งก็ตรงตามที่นักเศรษฐศาสตร์ทุกท่านคาดไว้จากผลการสำรวจก่อนประชุมนั่นเอง

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

ที่มาภาพ: CNBC, Bloomberg

Comments